จากกรณีที่ยูเครน ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาต้องการก๊าซเพิ่มเติมอีกราว ๆ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อความอยู่รอดผ่านพ้นช่วงฤดูหนาว โดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ส่งเสียงวิงวอนไปยังกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ(จี7) ขณะเดียวกัน เขายังได้เร่งเร้าจี7 ส่งอาวุธให้เคียฟเพิ่มเติม ในนั้นรวมถึง “รถถังทันสมัย” เช่นเดียวกับระบบปืนใหญ่และจรวด และขีปนาวุธพิสัยไกลกว่าเดิม
อีกทั้งผู้นำยูเครนยังเร่งเร้า และวิงวอนให้รัสเซีย “ใช้ก้าวย่างที่เป็นรูปธรรมและมีนัยสำคัญในการมุ่งหน้าสู่การหาทางออกางการทูต” โดยที่ เซเลนสกี เรียกร้องผู้รุกรานมอสโกให้ออกจากดินแดนของยูเครนภายในคริสต์มาส “ใครที่นำสงครามมาหาเรา จำเป็นต้องเอามันกลับไปด้วย” โดยพบว่ามีอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ยูเครนต้องการจากรัสเซีย นั่นคือการถอนกำลังทหารออกจากสมรภูมิ แม้ว่ายูเครนจะมีอาวุธชั้นเลิศบางชิ้นมาโจมตีรัสเซียได้ แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวในเกมรบเท่านั้น ขณะที่ยูเครนต้องร้องขออาวุธแบบรายวัน เทียบกับรัสเซียที่สั่งผลิตอาวุธเพิ่ม ทำให้สหรัฐฯเริ่มรู้ดีกว่า สุดท้ายยูเครนอาจจะต้องพ่ายแพ้ แต่ก็ขอให้ได้ยื้อศึกออกไปเรื่อย ๆ ก่อน
ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ระบุว่า นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวถึงการที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ขอความสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ “จี 7” ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสนับสนุนทางทหาร ทางเศรษฐกิจและพลังงาน ตลอดจนแผนสันติภาพ ซึ่งต้องเริ่มจากการที่รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน นับตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสนี้ ว่า รัฐบาลเคียฟ “ต้องยอมรับความเป็นจริงเรื่องอธิปไตย”
ขณะเดียวกัน โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การที่ยูเครนยังคงเดินหน้าขอความสนับสนุนลักษณะนี้จากจี 7 สะท้อนความต้องการให้สถานการณ์รุนแรงดำเนินต่อไป และย้ำว่า การลงประชามติที่เกิดขึ้นไม่นานนั้น เป็นการดำเนินการในดินแดน “ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐบาลมอสโก” ส่วนการให้กองทัพรัสเซียถอนกำลังพลและเคลื่อนย้ายสรรพาวุธทั้งหมดออกไปนั้น “เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง” ที่ผ่านมา รัสเซียจัดการลงประชามติในพื้นที่พิพาท 4 แห่งของยูเครน เมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคียร์ซอน และซาโปริชเชีย โดยปรากฏว่า “คะแนนเสียงสนับสนุนเป็นไปอย่างท่วมท้น” โดยการลงประชามติดังกล่าว เป็นไปในรูปแบบเดียวกับการลงประชามติ ของประชาชนบนคาบสมุทรไครเมีย เมื่อปี 2557 ซึ่ง 97% ของผู้ออกมาใช้สิทธิสนับสนุนการผนวกรวมกับรัสเซีย
นอกจากนี้ การควบรวมพื้นที่ทั้ง 4 แห่งในทางทฤษฎี เท่ากับว่า ยูเครนสูญเสียอาณาเขตเพิ่มอีก 15% อย่างไรก็ตาม นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลมอสโก “ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ” ทำให้ต้องติดตามต่อไปว่า หากรัสเซียยืนกรานจะไม่ถอนกำลังทหาร จะทำให้ยูเครนรับมือเช่นไรต่อไป เพราะยังขาดแคลนอาวุธอีกมาก ซ้ำโดนแรงการเมืองในประเทศกดดัน ที่มีทั้งฝ่ายยื้อสงครามม และฝ่ายที่อยากยกธงขาวแล้ว