“อาคม” กร้าวเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ไม่เปลี่ยนใจนโยบาเก็บภาษีหุ้น การันตีจีดีพีปีนี้โตแน่ ๓.๒% ส่วนปี ๒๕๖๖ ทะยานแตะ ๓.๘% จับตาส่งออก ๒ เดือนสุดท้าย พร้อมลุยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ปักหมุด ๕ ปี รายได้ต่อจีดีพีพุ่งแตะ ๑๖% ขณะที่รายงานล่าสุดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปเกือบ ๑๐ ล้านคนแล้ว
วันที่ ๘ ธ.ค.๒๕๖๕ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand Insights 2023 : Unlocking the Future” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็ยังฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี
โดยในไตรมาส๓/๒๕๖๕ เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึง ๔.๕% หลัก ๆ เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้น
นายอาคม กล่าวว่า “การท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยคาดว่าภายในวันที่ ๑๐ ธ.ค. นี้ เราจะได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย แตะ ๑๐ ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย โดยคิดเป็น ๑ ใน ๔ ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าตัวเลข ๑๐ ล้านคนจะยังไม่ถือว่าเยอะมาก แต่ก็มีแง่ดีคือ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจก็เริ่มจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังโควิด-๑๙ เช่นกัน”
ขณะที่ภาพรวมการลงทุนถือว่าขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทต่างชาติประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม ซึ่งปัจจัยเสริมต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่มองว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนปีหน้าการเติบโตจะเร่งตัวมากขึ้นและเติบโตได้อย่างมั่นคง ส่วนกระทรวงคลังเอง คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ ๓.๒% ส่วนปี ๒๕๖๖ คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ ๓.๘% โดยสถานะทางการคลังยังคงแข็งแกร่ง
สำหรับสถานการณ์การส่งออกที่เริ่มมีการชะลอตัวนั้น มองว่า ยังคงต้องติดตามตัวเลขการส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ๒๕๖๕ ด้วย เพราะอาจจะยังมีออเดอร์ส่งออกที่ยังรอดำเนินการอยู่ รวมทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจที่มีแนวโน้มกำลังซื้อชะลอตัวลง ว่าจะมีผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยมากน้อยแค่ไหน
นายอาคม กล่าวอีกว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจถดถอยซึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงิน ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-๑๙
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดภาระของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย และกลุ่มเอสเอ็มอี จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผ่านนโยบายหรือมาตรการแบบพุ่งเป้าหมายมากขึ้น เช่น การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม และราคาพลังงานต่าง ๆ การลดภาระค่าน้ำประปาและไฟฟ้า เป็นต้น และการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการหาแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย
สำหรับการดำเนินนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจในปีหน้านั้น มองว่า นโยบายการเงินและนโยบายด้านการคลังต้องประสานกัน โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำงานอย่างใกล้ชิด และเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานการ เพื่อทำให้เป้าหมายด้านเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ซึ่งมีการยืนยันชัดเจนว่าจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ขณะเดียวกันนโยบายด้านการคลังก็จะดำเนินการอย่างพุ่งเป้าหมายมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และต้องทำให้เกิดความมั่นคงและมีเสถียรภาพด้านการคลังด้วย
รมว.คลังกล่าวว่า “รัฐบาลใช้นโยบายด้านการคลังในการช่วยเหลือประชาชนช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ อย่างมาก ดังนั้นหลังสถานการณ์คลี่คลายลงก็ต้องมาดูเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ซึ่งรัฐบาลมีแผน ๕ ปี ในการเพิ่มรายได้ต่อจีดีพีเป็น ๑๖% จากปี ๒๕๖๔ รายได้ต่อจีดีพี อยู่ที่ ๑๔.๙% โดยจะต้องมีการปรับปรุงในหลายส่วน ทั้งการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล งบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุนที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงอัตราส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีประเทศ เพื่อให้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้น โดยแนวทางหนึ่งคือการกระจายการลงทุนไปยังภาคเอกชนให้มากขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ดี ในส่วนของแรงงานก็จะต้องมีการพัฒนาและเพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งมองว่าการเสริมทักษะด้านแรงงานถือเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต โดยตรงนี้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้ออกมาตรการเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงาน ตรงนี้ก็จะมีส่วนในการช่วยเสริมทักษะให้แรงงานในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย