อเมริกันอันตราย!? จีนลากไส้วอชิงตัน ตัวการยั่วยุสงครามนิวเคลียร์ SIPRI ชี้สหรัฐฯค้าอาวุธมากที่สุดในโลก

0

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่สื่อตะวันตกพยายามสร้างภาพ และนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยยังประเมินว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะผ่อนคลายลง ด้วยภาพปฏิสัมพันธ์ต่อหน้ากล้องในการประชุมจี-๒๐ ที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่ความจริงตรงหน้าสวนทางกองเชียร์อย่างชัดเจน เมื่อสหรัฐยังขายอาวุธให้เกาะไต้หวัน ทำให้การฟื้นฟูความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯแทบจะเป็นไปไม่ได้

ล่าสุดกองทัพจีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวอย่างน่าสังเกตุ ตั้งแต่การประชุมระหว่างรมว.กลาโหมสหรัฐฯกับแม่ทัพจีน และโฆษกจีนออกมาเปิดโปงสหรัฐว่าเป็นตัวการในการยั่วยุสงครามนิวเคลียร์ ด้วยพฤติกรรมในการจัดตั้งพันธมิตรต่อต้านจีนในเอเชีย-แปซิฟิก และฉุดลากนาโต้และอียูเข้ามาป่วนกรณีไต้หวันอย่างต่อเนื่องจงใจหาเรื่องยั่วยุจีนอย่างโจ่งแจ้ง

ในขณะเดียวกันสถาบันนานาชาติสวีเดนได้เผยแพร่รายงานพบว่าสหรัฐครองเบอร์หนึ่ง ‘ขายอาวุธ’ มากที่สุดในโลก ทำให้ภาพรวมของสหรัฐจึงปฏิเสธไม่ได้ ว่าเป็นประเทศนักค้าสงครามที่แท้จริง

วันที่ ๖ ธ.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์รายงานว่า กองทัพจีนได้ชี้ว่าสหรัฐฯคือตัวการกระตุ้นสงครามนิวเคลียร์ จากนโยบายของวอชิงตันที่กระตุ้นความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ได้เพิ่มความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกันได้กล่าวหาปักกิ่งว่าบั่นทอนเสถียรภาพของสหรัฐ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้สหรัฐเดินหน้าก้าวร้าวกับจีนและรณรงค์ต่อต้านจีนอย่างเปิดเผย

พันเอกตัน เค่อเฟย โฆษกของ กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวเมื่อวันอังคารกล่าวว่า “การประเมินความสามารถและยุทธศาสตร์ทางทหารของจีนครั้งใหม่ประกอบด้วย“การคาดเดาที่ไม่มีมูลความจริง”รวมถึงแผนพัฒนานิวเคลียร์ของปักกิ่ง สหรัฐฯ ยังเพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้งด้วยการแบ่งปันเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับออสเตรเลีย”

โฆษกกองทัพจีนกล่าวว่า “กองทัพสหรัฐฯพัฒนาอย่างจริงจังและพยายามติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในระดับแนวหน้า ลดเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ และส่งเสริมการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ผ่านความร่วมมือด้านความมั่นคงไตรภาคีระหว่างสหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย มันได้กลายเป็นต้นตอของความตึงเครียดทางนิวเคลียร์มากขึ้นเรื่อยๆ”

พันธมิตรออคัส (AUKUS) ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เป็นข้อตกลงเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันเทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์โดยสหรัฐฯ กับออสเตรเลีย เพื่อให้มีกองเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ เครื่องปฏิกรณ์บนเรือจะถูกบรรจุด้วยยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง ซึ่งสร้างความกังวลต่อการเพิ่มจำนวนนิวเคลียร์ในภูมิภาค

ตัน เค่อเฟย กล่าวว่า “จีนยังคงจุดยืนในการป้องกันนิวเคลียร์อย่างหมดจด และมีคลังแสงที่จำเป็นสำหรับการป้องปราม ปักกิ่งมีนโยบายห้ามใช้ก่อนอย่างเข้มงวด ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าปักกิ่งให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้อาวุธปรมาณูยกเว้นเพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยนิวเคลียร์

แต่ท่าทีด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ กลับระบุว่าการจำกัดบทบาทของอาวุธปรมาณูของสหรัฐฯ เพื่อป้องปรามและตอบโต้การโจมตีด้วยนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับไม่ได้”เนื่องจาก”ความสามารถที่ไม่ใช่นิวเคลียร์”ที่ฝ่ายตรงข้ามของประเทศมี

ตันได้แสดงความคิดเห็นเพื่อตอบโต้การปรับปรุงการประเมินขีดความสามารถทางทหารของจีนของเพนตากอน ซึ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอกสารคาดการณ์ว่าภายในปี ๒๕๗๘ ปักกิ่งอาจขยายคลังแสงนิวเคลียร์เป็น ๑,๕๐๐ หัวรบจากระดับปัจจุบันที่ประเมินไว้ที่ ๔๐๐ หัวรบ

รายงานอ้าง จีน“ไม่เต็มใจที่จะหารือ” กับ “ การพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ อวกาศ และไซเบอร์สเปซ ซึ่งส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ของโลก” ซึ่งตันมองว่ามันเป็นการบิดเบือนเจตนาของจีนอย่างชัดเจน

เขากล่าวว่า “จีนจะไม่แสวงหาความเป็นเจ้าโลกหรือมีส่วนร่วมในการขยายความต้องการ ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่“จุดไฟไปทุกที่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สร้างความแตกแยกและการเผชิญหน้าในโลก และนำความวุ่นวายและหายนะมาสู่ทุกที่ ” นอกจากนี้ปักกิ่งได้เรียกร้องให้วอชิงตันละทิ้งความคิดเรื่องสงครามเย็นและแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับจีนอย่างจริงจัง

ด้านสำนักข่าวซินหัว ได้รายงานข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มหรือ SIPRI ของสวีเดน ระบุว่ากลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่งของโลกด้านยอดจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์

ยอดจำหน่ายอาวุธของบริษัทสหรัฐฯ ๔๐ แห่ง ซึ่งอยู่ในรายชื่อบริษัทค้าอาวุธ ๑๐๐ อันดับแรกของโลก มีมูลค่ารวม ๒.๙๙ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว ๑๐.๔๖ ล้านล้านบาท ในปี ๒๐๒๑ ขณะบริษัทค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุด ๕ แห่งของโลก นับจากปี ๒๐๑๘ ล้วนตั้งอยู่ในสหรัฐฯและกระแสการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมค้าอาวุธสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปในปี ๒๐๒๑

แม้เผชิญความท้าทายด้านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก แต่ยอดจำหน่ายอาวุธและบริการทางการทหารของบริษัทค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุด ๑๐๐ แห่งแรก ยังคงสูงถึง ๕.๙๒ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว ๒๐.๗๒ ล้านล้านบาท ในปี ๒๐๒๑ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๙ เมื่อเทียบกับปี ๒๐๒๐ ในแง่มูลค่าที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ ๗ ของยอดจำหน่ายอาวุธทั่วโลก

ลูซี เบอโร-ซูเดร ผู้อำนวยการโครงการผลิตอาวุธและรายจ่ายทางการทหารของสถาบันฯ คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายอาวุธอาจเติบโตมากขึ้นในปี ๒๐๒๑ หากไร้ซึ่งปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานอันยืดเยื้อ สำหรับงานวิจัยของสถาบันฯ ได้เก็บข้อมูลที่ครอบคลุมประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาวุธยุทโธปกรณ์ การควบคุมอาวุธ และการลดอาวุธด้วย