หลังจากที่รัสเซียได้เตือนสหรัฐฯและนาโต้ว่า หากเมื่อใดก็ตามที่สหรัฐฯหนุนหลังยูเครน ถึงขั้นส่งจรวดแพทริออตมาให้ยูเครนใช้ต่อกรกับรัสเซีย จะต้องเจอหายนะใหญ่ตอกกลับแบบไม่ปราณีเช่นกัน ท่ามกลางกระแสที่สหรัฐฯ อยากขอเดินหน้าเจรจากับปูติน แต่มีเงื่อนไขว่า รัสเซียจะต้องรู้สึกว่าอยากจบสงครามนี้แล้ว เพราะล่วงเลยมากว่า 280 วัน
และในเวลาต่อมา โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้กล่าวชี้แจงว่า สหรัฐฯยังไม่มีแผนส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธรุ่นแพทริออตให้กองทัพยูเครน หลังนิตยสารความมั่นคงดีเฟนซ์ในสหรัฐฯรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า ทางสหรัฐฯไม่กล่าวปฏิเสธเมื่อถูกถามว่าสหรัฐฯจะส่งแพทริออตให้ยูเครนหรือไม่
ซึ่งโฆษกเพนตากอนยังระบุด้วยว่า แพทริออตเป็นระบบที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที จำเป็นต้องฝึกฝนเป็นเวลานาน ไม่รวมถึงความยากลำบากในการบำรุงรักษา ก่อนหน้านี้ นายเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ก็กล่าวเช่นกันว่า กำลังพิจารณาความเป็นไปได้เรื่องการส่งแพทริออตในยูเครน แต่มีปัญหาเรื่องการฝึกฝน
ขณะเดียวกันรัสเซียก็ไม่เคยวางใจในเกมรบ แม้จะรู้อยู่แล้วว่า ยังไงก็เอาชนะยูเครนได้ไม่ยาก และชาติตะวันตกก็ได้ให้คำมั่นว่าจะส่งอาวุุธช่วยเหลือยูเครนมากขึ้น โดยเฉพาะระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งฝ่ายรัสเซียเองก็มีความเคลื่อนไหวในด้านการใช้ยุทโปกรณ์เช่นกัน โดยระหว่างการหารือกับนายทหารระดับสูงของรัสเซีย เซอร์เกร์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่กองทัพจะต้องพัฒนาระบบอาวุธใหม่เพื่อนำมาใช้งานระหว่างการสู้รบในยูเครน และขณะนี้ได้เริ่มทดสอบวิธีใหม่ ๆ ในการใช้อาวุธต่อสู้กับยูเครน
ชอยกู ระบุว่า ขณะนี้กองทัพรัสเซียในยูเครนกำลังปรับปรุงระบบยิงต่อต้านปืนใหญ่ ด้วยการใช้เครื่องยิงจรวดระยะไกล “ทอร์นาโด-เอส” (Tornado-S) และปืนใหญ่ “มัลก้า” (Malka) ที่สามารถติดตั้งไปกับยานพาหนะล้อยาง หรือ ล้อสายพานได้ เพื่อเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร
โดยชอยกู ยืนยันว่าอาวุธเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงในการโจมตีเครื่องยิงจรวดและปืนใหญ่ที่ชาติพันธมิตรส่งมาช่วยยูเครน
ขณะที่กองทัพรัสเซียอ้างว่าเข้าควบคุมเมือง 3 แห่งในเขตปกครองโดเนสตก์ และทำลายคลังสินค้าในดนิโปร เปตรอฟสก์ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บเครื่องยิงจรวดไฮมาร์ส ( HIMARS) ในพื้นที่ดังกล่าว
ส่วน นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เตือนว่าประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารทหารระหว่างกัน แม้จะเป็นเพียงการใช้อาวุธธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็ตาม เพราะหากประเทศเหล่านี้สู้กันสถานการ์อาจบานปลายเกินที่จะควบคุม อีกทั้งลาฟรอฟ ยังย้ำจุดยืนของรัฐบาลรัสเซียว่าหากสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้น จะไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ