โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า นายกฯ เดินหน้าผลักดันไทยสู่ฐานการผลิตรถ EV ในภูมิภาค พร้อมเร่งผนวกเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางสู่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน -พลังงานทดแทน
วันที่ ๒ ธ.ค.๒๕๖๕ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่วางแนวทางในการพัฒนาประเทศให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และมีการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผนวกเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางสู่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และความสอดคล้องเชิงนโยบายกับนโยบาย EV และพลังงานทดแทน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลเร่งผลักดันแนวทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว รวมทั้งเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านนโยบาย ๓๐@๓๐ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยภาคเอกชนตอบรับนโยบายและแนวทางสนับสนุนดังกล่าวของรัฐบาลเป็นอย่างดี มีนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยมากขึ้น
โดยบทวิจัยล่าสุดของ Arthur D. Little (ADL) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก (https://www.adlittle.com/en/insights/report/global-electric-mobility-readiness-index-gemrix-2022) เปิดเผย ‘ดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (Global Electric Mobility Readiness Index – GEMRIX)’ ประจำปี ๒๐๒๒ ว่า
ไทยอยู่ในลำดับที่ 9 และถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘ตลาด EV กำลังเติบโต’ (Emerging EV Markets) มีคะแนนระหว่าง ๔๐ – ๖๐ คะแนน ซึ่งการสำรวจก่อนหน้าในปี ๒๐๑๘ ไทยอยู่ในอันดับที่ ๑๓ แสดงให้เห็นว่า ในระยะเวลา ๔ ปี ไทยมีพัฒนาการไปในทางบวกหลายอย่าง อาทิ นโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อใช้รองรับอุตสาหกรรม EV และวิถีใหม่ของผู้บริโภค ซึ่ง ADL ยังมองและเชื่อมั่นว่า ไทยจะยังสามารถเป็นผู้นำด้านการผลิต EV ในระดับภูมิภาคได้ แม้จะยังมีความท้าทายบางประการอยู่อีก

นายอนุชากล่าวว่า “รัฐบาลขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำให้อุตสาหกรรมรถ EV ของไทยอยู่ในช่วงเติบโต ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน และออกนโบายที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เตรียมการรองรับความต้องการวิถีใหม่และเพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภคในอนาคต โดยรัฐบาลพร้อมเดินหน้า รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมถึงขยายการลงทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เพื่อความสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
อุตสาหกรรมรถEV เป็น ๑ ใน ๑๒ อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการลงทุน การจ้างงาน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากการผลิตรถแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อย่าง อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีบริษัทไทยและต่างชาติเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วกว่า ๑๐ โครงการ บางโครงการได้เริ่มผลิตไปแล้ว
ด้านสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้า(ชาร์จไฟ) สำหรับรถ EV ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมี ๑,๔๔๗ แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นมาจากช่วงต้นปีที่มีอยู่เพียง ๙๔๔ แห่ง (ข้อมูลเมื่อ ๔ มี.ค.๒๕๖๕) โดยแต่ละแห่งส่วนใหญ่มีหัวจ่ายไฟไม่เกิน๓ หัวจ่ายและกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก ทางรัฐบาลจึงตั้งเป้าให้มีหัวจ่ายไม่น้อยกว่า ๑๒,๐๐๐ หัวจ่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่ของปะเทศภายในปี ๒๕๗๕ ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในการจัดตั้งสถานีชาร์จไฟรถEV ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา ๕ ปี
สำหรับกรณีลงทุนสถานีชาร์จไม่น้อยกว่า ๔๐ หัวจ่ายประเภท Quick Charge ส่วนกรณีอื่นให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๓ ปี พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Low Priority ราคาหน่วยละ๒.๖๙ บาท แก่ผู้ประกอบการจนถึงปี ๒๕๖๘ ซึ่งหากเกิดการลงทุนตั้งสถานีชาร์จได้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากจะรองรับการใช้งานรถEV ได้อย่างเพียงพอแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแต่ละท้องที่จากการลงทุนและใช้บริการชาร์จไฟด้วย