รากฐานดี!! สถาบันเครดิตเอสแอน์ดพี คงความน่าเชื่อถือไทย BBB+ จีดีพีทั้งปีโต ๒.๙% มองศก.ไทยมีเสถียรภาพ

0

สบน.เปิดเผยว่า  S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ BBB+ พร้อมคงมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ หรือ Stable Outlook หลังโควิด-๑๙ คลี่คลาย ท่องเที่ยวหนุน พร้อมมองจีดีพีปีนี้ ๒.๙% 

เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ย.๒๕๖๕ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. กล่าวว่า บริษัท S&P Global Ratings หรือ S&P ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๑. การคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโควิด ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด และอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย และการที่ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด อย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของภาค การท่องเที่ยวและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

โดย S&P คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก ๔๒๘,๐๐๐ คนในปี ๒๕๖๔ เป็นประมาณ ๑๐ ล้านคนในปี ๒๕๖๕ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ และเศรษฐกิจไทย (Real GDP) จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ ๒.๙ ในปี ๒๕๖๕ เป็นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ ๓.๒ ในช่วงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๘

นอกจากนี้ การสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

๒. ภาคการคลังมีเสถียรภาพ จากการลดการใช้จ่ายภาคการคลังตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งหนี้ภาครัฐบาลสุทธิและต้นทุนการกู้เงินมีเสถียรภาพ จึงทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ขาดดุลงบประมาณลดลง และหนี้ภาครัฐบาลจะทยอยลดลงในระยะ ๓ ปีข้างหน้า

๓. ภาคการเงินต่างประเทศ พบว่าแม้ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศฟื้นตัว อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศและสภาพคล่องของไทยยังอยู่ในระดับสูงและแข็งแกร่ง S&P คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลเฉลี่ยร้อยละ๒.๑ ของ GDP ในปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘

๔. ปัจจัยสำคัญที่ S&P จะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การเงินโลกและเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ