ศก.ไทยแกร่ง!! ครม.ปลื้ม ๓ สถาบันเครดิต ยกอันดับน่าเชื่อถือไทย ปี’๖๕ เก็บรายได้สูงกว่าเป้า ๑.๕๑ แสนล้าน

0

รองโฆษกรัฐบาล เผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ตำหนิกลุ่มผู้ไม่หวังดี หยุดให้ข้อมูลมั่ว ล่าสุด JCR ปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือไทยจาก A- เป็น A เสถียรภาพขณะที่มูดีส์และฟิทช์เรตติ้ง ให้เครดิตเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งเพราะบริหารมีประสิทธิภาพ

วันที่ ๒๓ พ.ย.๒๕๖๕ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ปรากฏชัดจากตัวเลขรายได้แผ่นดินปีงบประมาณ 2565 ที่จัดเก็บได้มากกว่าที่ประมาณการไว้ถึง 1.5 แสนล้านบาท ภาพรวมเศรษฐกิจ 9 เดือนแรกของปี ขยายตัว 3.1 % ซึ่งขอตำหนิกลุ่มผู้ไม่หวังดี บิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายความมั่นใจต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยล่าสุด มีการแชร์ส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จว่า รัฐบาลกู้เงินจนหนี้ท่วม คลังไม่สามารถจัดการหนี้ได้ 

ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ดูได้จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 2565 นั้น รัฐบาลกู้จริง 6.52 แสนล้านบาทจากที่ประมาณการไว้ 7 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของการกู้เงินในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือและเยียวยาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 หดตัวลดลงเพียง 5.1% ซึ่งดีกว่าที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ 8%

นอกจากนี้ ระดับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย.2565 อยู่ที่ 10.37 ล้านบาท หรือคือเป็น 60.41% ต่อ GDP ต่ำกว่าที่กำหนดเพดานไว้ 70% ซึ่งกระทรวงการคลังให้ความมั่นใจว่าไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) รวมทั้งยังมีการติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังเผยว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ชั้นนำระดับสากล ล้วนมีความมั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยได้ทยอยออกการรายงานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ Stable Outlook ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจค่อนข้างมากภายใต้สถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ดังนี้ 

1.Moody’s (7 เม.ย. 2565) เชื่อว่า แม้หนี้รัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นแต่ตัวชี้วัดภาคการคลังและหนี้สาธารณะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับความแข็งแกร่งดังกล่าวได้ต่อไป 

  1. Fitch Ratings (21 มิ.ย.2565) รายงานว่า รัฐบาลได้บรรเทาความเสี่ยงของหนี้ภาครัฐบาลด้วยการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ มีตลาดทุนในประเทศที่มั่นคง และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท และล่าสุด                                                                                                                       
  2. Japan Credit Rating Agency (11 พ.ย.2565) ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับ A- เป็น A และคงมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

นางสาวรัชดากล่าวว่า “ขอให้ประชาชนรับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผู้ที่มีพฤติกรรมชอบบินเบือนข้อมูลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศการมีมุมมองและการวิเคราะห์ที่แตกต่างเป็นเรืองปกติ แต่ต้องมาจากฐานข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ประเด็นสถานะทางการคลัง ประชาชนสามารถติดตามตัวเลขที่ถูกต้องจากการเผยแพร่จากส่วนราชการ และยังมีการรายงานภาพรวมเศรษฐกิจประเทศจากสถาบันชั้นนำของต่างประเทศ ซึ่งจะได้ทราบข้อเท็จจริงจากการประเมินของหลายมุมมอง และปัจจุบันนี้มีข้อสรุปว่า สถานะการเงินการคลังไทยมีความแข็งแกร่ง และภาพรวมเศรษฐกิจที่ดี อัตราการว่างงานต่ำมากด้วย” 

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2565 สูงกว่าเป้าหมาย 1.51 แสนล้านบาทนั้น ได้อานิสงส์รายได้จากการจัดเก็บภาษีพุ่งกระฉูด พร้อมเคาะกรอบจัดทำยุทธศาสตร์งบประมาณปี 2567 ปักธง พ.ค.-มี.ค. 2566 ดันเข้าสภาพิจารณาวาระแรก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ได้เห็นชอบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2564 ถึง 30 ก.ย.2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. รายได้แผ่นดินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำเงินส่งคลัง อยู่ที่2,551,223 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 151,223 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ และรัฐพาณิชย์เพิ่มขึ้น
  2. รายรับจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 652,553 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,447 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับลดกรอบวงเงินกู้

3.รายจ่ายตามงบประมาณ อยู่ที่2,900,727 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,717 ล้านบาท (ยังไม่รวมเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 190,556 ล้านบาท) เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณช้า ไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด

  1. รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จำนวน 33,655 ล้านบาท

5.. ดุลการรับ-จ่ายเงิน ประกอบด้วย 1.รายรับทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นจริง 3,203,775 ล้านบาท (รวมรายได้แผ่นดินที่ได้รับจริง 2,551,223 ล้านบาท และเงินกู้ฯ ที่รับจริง 652,553 ล้านบาท) 2.รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามประมาณ 3,148,060 ล้านบาท (รวมรายจ่ายงบประมาณตามงบประมาณ 2,900,727 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่จ่ายจริง (ปี 2564) 213,678 ล้านบาท และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง 33,655 ล้านบาท)

ทั้งนี้ รายรับสูงกว่ารายจ่าย 55,715 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสินค้าเข้า-ออก

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังได้มีมติเห็นชอบหลักการและกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1.ความมั่นคง 2.สร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.สร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม 5.สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 6.ปรับสมดุลพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยโครงการที่หน่วยราชการเสนอเข้ามาในเบื้องต้น มีจำนวน 1,026 โครงการ

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในระยะต่อไป แบ่งเป็น ช่วงเดือน ธ.ค. 2565 – ม.ค.2566 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำขอรับงบประมาณ, ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2566 พิจารณารายละเอียดงบประมาณ, ช่วงเดือนมี.ค. – เม.ย. 2566 เปิดรับฟังความคิดเห็น และช่วงเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2566 สภาพิจารณางบประมาณ วาระที่ 1