“บีทีเอส”ปล่อยคลิปทวงหนี้ สายสีเขียว ๔ หมื่นล้าน จ้วงผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา เล็งปล่อยคลิปทวงหนี้บนรถไฟฟ้า และสถานีรถไฟฟ้าของบีทีเอสทุกแห่ง เป็นเวลา ๑๕ วัน ด้านชัชชาติฯอ้างต้องตรวจสอบเป็นหนี้ที่ถูกต้องผ่านสภากทม.หรือไม่ต้องใช้เวลา ครั้งนี้บีทีเอสคงไม่ยอมปล่อยผ่าน เพราะทนมา ๓ ปีแล้ว
วันที่ ๒๒ พ.ย. ๒๕๖๕ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 บีทีเอสได้เริ่มเผยแพร่คลิปวิดีโอ ทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุข้อความว่า “คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน… ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน… ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน#ติดหนี้ต้องจ่าย”
สำหรับเนื้อหาในคลิปวีดีโอดังกล่าว นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) ระบุว่า “จ่ายเงินที่ควรจ่าย ๓ ปีกว่า จำนวนเงิน 40,000 กว่าล้าน เพราะเอกชนผู้ลงทุน จ่ายทุกวัน พนักงานก็ต้องจ่าย ค่าไฟต้องจ่าย ผู้ที่มีอำนาจ บริหารประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกทม. หรือ การเมืองของประเทศ ต้องเข้ามาดูได้แล้ว ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านใดที่อยู่ในอำนาจควรคิดได้แล้วว่า ดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ยังไงก็ต้องจ่ายผม มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย
“ผมเชื่อว่าประชาชน ภาษีเราเสียหาย อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ จะเอาอย่างไร เพราะสิ่งหนึ่งที่เราไม่ทำอยู่อย่างเดียวก็คือว่า เราไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผมรับปากกับประชาชน ว่าผมจะไม่ยอมหยุดรถ เพราะหยุดรถนี่ความเสียหายเกิดกับประชาชน ไม่ได้เกิดกับผมอย่างเดียว ไม่ได้เกิดกับนักการเมืองคนไหน ผมเชื่อว่าผู้โดยสารของผม คงเข้าใจผม”นายคีรี กล่าว
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ ๒ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีประเด็นทางกฎหมายอยู่เพียงประเด็นเดียว จากที่ข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพมหานคร บัญญัติว่า กรณีกรุงเทพมหานครไปสร้างภาระหนี้ผูกพันจะต้องผ่านสภากรุงเทพมหานครก่อน ซึ่งการทำสัญญาทั้งในส่วนการจ้างเดินรถและติดตั้งงานระบบในส่วนต่อขยายที่ ๒ ที่เป็นภาระหนี้ผูกพัน เพราะกรุงเทพมหานครจะต้องชำระหนี้ทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่า ส่วนนี้ผ่านสภากรุงเทพมหานครแล้วหรือไม่ จึงทำหนังสือเพื่อสอบถามทางสภากรุงเทพมหานครว่า ส่วนนี้ผ่านการอนุมัติจากสภากรุงเทพมหานครแล้วหรือไม่ เข้าใจว่าได้ส่งหนังสือไปแล้ว ในส่วนของมูลหนี้จากส่วนต่อขยายส่วนที่ ๑ นั้น มีการผ่านสภาอย่างถูกต้อง หากการดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 จบกระบวนการ ก็สามารถจ่ายได้ทันที
นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า กรุงเทพมหานครเป็นหนี้ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการรับโอนทรัพย์สินในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันเช่นเดียวกัน เนื่องจากกรุงเทพมหานคร จะต้องมีการชำระค่าตอบแทนในอนาคตซึ่งต้องใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครมาจ่าย หากไม่ผ่านสภากรุงเทพมหานคร จะต้องทำสัญญาให้ถูกต้องกฎหมายก่อน