ขณะที่สหรัฐ-สหภาพยุโรป-กลุ่มจี-๗ จะประกาศคว่ำบาตรรอบใหม่กับรัสเซียด้านการกำหนดเพดานราคาพลังงาน ห้ามรัสเซียขายเกินจากคำสั่ง เรื่องนี้รัสเซียเมิน อยู่แล้ว แต่พรรคพวกสหรัฐฯในยุโรปและประเทศในภูมิภาคต่างๆ กำลังเดินหน้าเมินคำสั่งนี้อย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างกว้างขวางโดยสหรัฐและพันธมิตรในยุโรป หลังจากเริ่มปฏิบัติการพิเศษในยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่การส่งออกพลังงานของรัสเซียก็ไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วตามที่พวกเขาคาดหวัง ทำให้ทั้งสหรัฐและผู้นำอียูต้องหัวหมุน ดิ้นรนอย่างหนักเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ และกำลังพยายามหาวิธีรัดบ่วงให้แน่น คิดหาวิธีปราบลงโทษกระทั่งพรรคพวกตัวเองที่ไม่ยอมเชื่อฟัง ดูเหมือนผลกระทบด้านลบจะวกกลับเข้าหาตัวเองแทนซะงั้น
วันที่ ๒๒ พ.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวสปุ๊ตนิกรายงานว่า ไมรีด แม็คกวินเนส(Mairead McGuinness) ผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรปดูแลนโยบายการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปกล่าวว่า “เราต้องการควบคุมการหลีกเลี่ยงคว่ำบาตรทั้งในยุโรปและกับประเทศที่สาม” “ยิ่งมีการดื้อแพ่งทำให้รั่วไหลออกไปนานเท่าไหร่ก็ยิ่งยากที่จะเห็นบทสรุปตามที่เราคาดหวัง”
สหภาพยุโรปประสบปัญหาในการปฏิบัติตามการคว่ำบาตรด้านพลังงานของวอชิงตันต่อรัสเซีย เนื่องจากกลุ่มเคยซื้อก๊าซเกือบครึ่งหนึ่งจากรัสเซีย และประเทศสมาชิกหลายแห่งได้เห็นการประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชน ต่อการปฏิเสธการซื้อพลังงานรัสเซียเพิ่มเติม และภายในวันที่ ๕ ธันวาคมที่จะถึงนี้ สหภาพยุโรปประกาศให้จะยุติการนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซียโดยสิ้นเชิง ตามด้วยการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานทั้งหมดของรัสเซียในเดือนมกราคมปีหน้า กระแสความไม่พอใจจึงแผ่ขยายกว้างขวางทั่วยุโรปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
Gazprom ของรัสเซียระงับก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ไม่ให้ผ่านท่อส่ง Nord Stream 1 เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากการกำหนดราคาสูงสุดฝ่ายเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์ และบางประเทศไม่ยอมจ่ายค่าพลังงานเป็นเงินรูเบิล สัปดาห์ต่อมาก็เกิดการระเบิดใต้ทะเลอย่างลึกลับทำให้ท่อส่งก๊าซใช้งานไม่ได้
สหรัฐฯ ยุติการบริโภคก๊าซและปิโตรเลียมของรัสเซียอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมีนาคม ปริมาณการนำเข้าที่น้อยลงไม่ได้ทำให้ราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ แต่สหรัฐและสหภาพยุโรปต้องควักน้ำมันสำรองออกมาใช้จำนวนมาก ซึ่งสุ่มเสี่ยงความมั่นคงพลังงานของตัวเอง ฝ่ายบริหารของ Biden ใช้เวลาตั้งแต่นั้นมากดดันประเทศอื่น ๆ ให้ปฏิบัติตามการคว่ำบาตรนั้น และก็ยอมรับว่าประเทศที่เป็นกลาง อย่างแอฟริกาใต้ได้เลือกข้างรัสเซีย ไม่คว่ำบาตรแล้วยังร่วมลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ทางยุทธศาสตร์กับรัสเซียอีกด้วย
เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐได้เดินทางไกล ไปผลักดันการคว่ำบาตรในระดับส่วนตัวมากขึ้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯได้เดินทางไปผลักดันให้กลุ่ม ๗ (G7) ให้ยอมรับมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียที่ถกเถียงกันมานาน และเมื่อเดือนที่แล้ว เอลิซาเบธ โรเซนเบิร์ก รองผู้อำนวยการเยลเลน ได้บินไปญี่ปุ่นเพื่อกดดันแต่ญี่ปุ่นก็มีท่าทีเฉื่อยเนยและสนใจเข้าร่วมลงทุนในบริษัทพลังงานกับรัสเซีย นอกจากนี้ไบเดนยังเดินทางไปกดดันกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับด้วยตัวเองแต่ล้มเหลว
ยิ่งประเทศต่างๆ ถูกกดดันให้ตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียมากเท่าไร วอชิงตันก็ยิ่งเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนแปลกแยก รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคนถูกรัฐมนตรีฯ แอฟริกาใต้ ปฏิเสธอย่างชัดเจน หลังจากที่เขาบินไปพริทอเรียเพื่อกระตุ้นให้แอฟริกาใต้ยุติโครงการร่วมกับรัสเซีย ก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ ประเทศในยุโรปยังคงเผชิญกับแรงกดดันทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนยูเครน รวมถึงการประท้วงเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากการขึ้นราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อ
สถิติการค้าใหม่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า สหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ใช่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอีกต่อไปแล้วเพราะเบรคซิท แต่ยังคงเป็นพันธมิตรของนาโต้ ได้นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเกือบ ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน
สหราชอาณาจักรยังคงได้รับน้ำมันจากรัสเซีย แม้ว่าบันทึกของทางการจะเสนอเป็นอย่างอื่น การสอบสวนที่เผยแพร่โดย The Sunday Times ได้เสนอรายงานว่า สหราชอาณาจักรต้อนรับเรือบรรทุกน้ำมัน ๓๙ ลำที่บรรทุกน้ำมันรัสเซียมูลค่า๒๐๐ ล้านปอนด์ ประมาณ ๒๓๖ ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน น้ำมันดังกล่าวถูกจัดประเภทและรายงานว่านำเข้ามาจากโปแลนด์ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลัตเวีย
นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังได้รับ น้ำมันรวมมูลค่า ๗๗๘ ล้านปอนด์ ประมาณ ๙๑๙ ล้านเหรียญสหรัฐจากรัสเซีย ในท่าเรือของอังกฤษตั้งแต่เดือนมีนาคม ตามสถิติการค้า หนังสือพิมพ์รายงานว่า ได้ติดตามเรืออย่างน้อย ๔ ลำที่บรรทุกน้ำมันรัสเซียประมาณ ๑ ล้านบาร์เรลไปยังท่าเรืออิมมิงแฮม
แม้จะเป็นหัวหอกในการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซีย อย่างวอร์ซอว์ก็ย้อนรอยกับข้อเรียกร้องให้คว่ำบาตรท่อส่งน้ำมัน Druzhba ในยูเครนและกล่าวว่าจะซื้อเชื้อเพลิงจากมอสโกว์ในปี ๒๕๖๖ ด้วย
อาการเกลียดตัวแต่อยากกินไข่ของบริวารสหรัฐทำให้สหรัฐหัวปั่น หน้าแตกสมาชิกอียู อย่างฮังการียิ่งหนัก ไม่ร่วมด้วยกับการคว่ำบาตรรัสเซียและเดินหน้าซบรัสเซียทั้งเรื่องการกู้เงินและ การจัดซื้อพลังงานรัสเซีย เริ่มจนปัจจุบันสหรัฐและสหภาพยุโรปก็ทำอะไรไม่ได้ กระเป๋าไม่ตุง ท้องหิวใครจะอยากรบ ยิ่งสงครามยืดเยื้อเท่าไหร่ ยุโรปและอเมริกาเองที่ต้องสบักสะบอมขณะที่รัสเซียกลับรวยเอารวยเอา เพราะได้ลูกค้าใหม่กระเป๋าหนักอย่างจีนและอินเดีย อินโดนีเซีย มิหนำซ้ำลูกค้าเก่าแถวยุโรปยังปากว่าตาขยิบ ตะโกนโวยคว่ำบาตรรัสเซียแต่แอบซื้อน้ำมันรัสเซีย สรุปได้ชัดว่าการคว่ำบาตรอย่างบ้าคลั่งของเมกาและบริวารต่อรัสเซีย ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง!!??