สภาพัฒน์’เปิดตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส ๓/๒๕๖๕ ขยายตัว ๔.๕% คาดทั้งปี ไว้ที่ ๓.๒% ส่วนจีดีพีปี ๒๕๖๖ อยู่ที่ ๓-๔% ค่ากลางคิดเป็น ๓.๕% คาดนักท่องเที่ยวปีนี้พุ่ง ๑๐.๒ ล้านคน ส่วนปีหน้า ๒๓.๕ ล้านคน
วันที่ ๒๑ พ.ย.๒๕๖๕ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส ๓/ ๒๕๖๕โดยพบว่าขยายตัวอยู่ที่ ๔.๕ %เร่งขึ้นจาก ๒.๓ %และ ๒.๕% ในไตรมาสแรกและไตรมาส ๒ ตามลำดับ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้า ขยายตัว ๖.๗% การบริโภคเอกชนขยายตัว ๙% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ๕.๘% และอัตราเงินเฟ้อขยายตัว ๗.๓%
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภาพรวมรวมเศรษฐกิจไทย ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ ขยายตัวที่ ๓.๑% โดยประเมินว่า ภาคการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น แต่การส่งออกสินค้าชะลอตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ด้านการผลิตสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ส่วนสาขาก่อสร้างและเกษตรกรรมปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี ๒๕๖๕ จะขยายตัว ๓.๒% เร่งขึ้นจาก ๑.๕ %ในปี ๒๕๖๔ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ ๖.๓% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ ๓.๖%
ส่วนปี ๒๕๖๖ จีดีพี ไทยจะขยายตัว ๓.๐-๔.๐ %(ค่ากลาง ๓.๕%) การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว ๓% มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัว ๑ %อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ช่วง ๒.๕ – ๓.๕ %และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ ๑.๑ %ของ GDP
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ฯคาดปีในปี ๒๕๖๕ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยกว่า ๑๐.๒ ล้านคน มีรายรับกว่า ๕.๗ แสนล้านบาท และคาดว่าในปี ๒๕๖๕ นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ ๓.๒%
ในปี ๒๕๖๖ คาดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศมากขึ้น คาดเข้ามากว่า ๒๓.๕ ล้านคน มีรายรับกว่า ๑.๒ ล้านล้านบาท ซึ่งในปีหน้าการท่องเที่ยวจะเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง
ทั้งนี้ โดยมีปัจจัยหนุนมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเษตร ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ภาวะหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย และความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของโรค โควิด-๑๙
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในระยะถัดไป เช่น เศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวค่อนข้างช้าจากนโยบาย zero covid รวมทั้งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน เป็นต้น
สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี๒๕๖๖สศช.เห็นว่า ควรให้ความสำคัญใน ๘ ประเด็น ได้แก่
๑.การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
๒.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก ๒๕๖๖/๒๕๖๗
๓.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ ,การติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ,การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
๔.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มศักยภาพ ,การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน ,การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
๕.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการดูแลด้านสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ,การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ,การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย ,การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ,การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง
๖.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
๗.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
๘.การติดตาม เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-๑๙