นายกฯ ร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และแขกพิเศษ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกและภาวะถดถอยที่กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ ชี้รัฐ-เอกชนร่วมกันผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดึงผู้นำเอกชน ๒๑เขตเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
วันที่ ๑๘ พ.ย.๒๕๖๕ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับแขกพิเศษ ได้แก่ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วนด้านการค้า” ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นับเป็นครั้งที่ ๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค โดยพบว่าอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างไปจาก ๒ ครั้งแรกที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพโดยสิ้นเชิง ในเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ยังไม่คลี่คลาย ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูง ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่หยุดชะงัก และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ
“เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งเป็นหัวข้อการประชุมเอเปคปี ๒๕๖๕ อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนงานภายใต้ ๓ เสาหลักของวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ปี ค.ศ. ๒๐๔๐
ตลอดปีที่ผ่านมาได้มีการพบปะกับภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้เป็นเจ้าภาพจัดการการประชุมระดับรัฐมนตรี ๘ ครั้ง เพื่อพัฒนาความร่วมมือของเอเปคในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยไทยตระหนักดีว่าความร่วมมือกับพันธมิตรนอกเอเปคเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการฟื้นฟูและการเติบโตในระดับที่กว้างขึ้น เพื่อการพัฒนาที่แข็งแกร่ง สมดุล ยืดหยุ่น ยั่งยืนและครอบคลุม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเช้านี้ผู้นำเอเปคได้หารือเพื่อการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร และได้กล่าวเชิญชวนสู่การหารือเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเอเปคเป็นเวทีที่มุ่งขับเคลื่อนการค้าที่เสรีและเปิดกว้างมาโดยตลอด และในปีนี้ได้ริเริ่มทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอฟแทป ผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอใช้โอกาสนี้นำเสนอ ๓ ประเด็นที่เชื่อว่า ภาครัฐและภาคธุรกิจสามารถร่วมมือกันได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นทิศทางที่ไทยเชื่อว่าเป็นหนทางที่ภูมิภาคและโลกต้องก้าวไปให้ถึง หากเราจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากผลกระทบของโควิด-๑๙ และเติบโตในระยะยาวอย่างสมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน การเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง ระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ
ประเด็นแรก ขอให้นำเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว (BCG) มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาวควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังสามารถมีผลกำไรได้ และ การเงินการคลังที่ยั่งยืน ก็มีความสำคัญยิ่งต่องานของเรา ดังนั้น ภาคเอกชนสามารถมี บทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินที่ยั่งยืนที่อิงกลไกตลาด ตราสารทางการเงิน และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของเงินทุนไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน เราจะสานต่อการทำงานเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่เอื้อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้
ประเด็นที่สอง การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม เราต้องมั่นใจว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงขอให้หันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ต้องทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ซึ่งมีสัดส่วนกว่า ๙๘% ของธุรกิจทั้งหมด ในภูมิภาค และคิดเป็น ๔๐-๖๐% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในเขตเศรษฐกิจเอเปกส่วนใหญ่ ให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างนวัตกรรม ให้สามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน
ประเด็นที่สาม การมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ ซึ่งประเทศไทยมีความกระตือรือร้นที่จะต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ และแรงงานขั้นสูงในภาคอุตสาห กรรมนี้ โดยมีมาตรการจูงใจทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี และเมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดตัวโครงการตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว 10 ปี พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล นอกจากนี้ไทยได้จัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของภูมิภาค
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เชิญแขกพิเศษกล่าวถ้อยแถลง โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ ความเชื่อใจกัน โดยฝรั่งเศสสนับสนุนการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทาย
ด้านซาอุดีอาระเบีย กล่าวถึงพร้อมร่วมมือOPEC มุ่งมั่นเสริมสร้างการเจริญเติบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพในตลาดพลังงาน และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด พร้อมทั้งมุ่งมั่นสร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม
ซึ่งภายหลังจากการแสดงความคิดเห็นของผู้นำเขตเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีได้ กล่าวปิดถึงความเห็นของผู้นำที่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เห็นความสำคัญของการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก สำหรับไทย การค้าและการลงทุนยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเจริญเติบโต และเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันต้องสร้างเสริมให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ MSMEs สตรี และ เยาวชน เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ข้อมูล และเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ที่ส่งถึงคนทุกกลุ่ม