มิตรร่วมรบของจริง!!จีนยันจับมือรัสเซียสร้าง ‘โลกหลายขั้ว’ ค้านUNยึดทรัพย์มั่ว สับต.ต.ใช้อาหารบีบการเมือง

0

ท่ามกลางความร้อนระอุของการเมืองโลกในที่ประชุมเอเชียครั้งสำคัญทั้งอาเซียนและจี-๒๐ ปรากฎว่าสหรัฐและบริวารแผลงฤทธิ์เดชเต็มที่ไม่สนมารยาทหรือ ความต้องการที่แท้จริงของเจ้าภาพ ที่ต้องการร่วมมือกันในหมู่ชาติพัฒนาทั้งหลายในการเผชิญหน้าแก้ปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจผันผวนและสงครามเชิงพื้นที่ที่คุกรุ่นในหลายจุดวาบไฟของโลก กลับแย่งซีนเปิดวาระต่อต้านรัสเซียและเชิดชูฝ่ายตนเองอย่างกว้างขวาง โดยมีสื่อหลักตอบรับเป็นทอด

ในช่วงเวลาเดียวกันในระดับสากล สหรัฐได้ผลักดันUN ให้ลงมติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัสเซียรับผิดชอบต่อปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ให้รัสเซียจ่ายค่าชดเชยโดยสินทรัพย์ที่เมกาและพวกยึดไว้ มตินี้จีนคัดค้านเต็มที่ เก็ง ชวง (Geng Shuang) รองผู้แทนถาวรของจีนนประจำ UNGA โต้แย้งว่ามติดังกล่าวมีข้อบกพร่องและช่องโหว่ที่ชัดเจนทั้งเร่งรีบ และไม่สอดคล้องกับจุดยืนของจีน

วันที่ ๑๖ พ.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และซีจีทีเอ็นรายงานว่า หวัง ยี่(Wang Yi) มนตรีแห่งรัฐและรมว.ต่างประเทศจีน บอกกับเพื่อนร่วมงานชาวรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov)รมว.ต่างประเทศรัสเซีย ว่า “ปักกิ่งจะร่วมมือกับมอสโกเพื่อสร้างโลกหลายขั้ว”

หวัง ยี่กล่าวยืนยันหลังจากพบกับเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียนอกรอบการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันอังคารทีผ่านมา เขาระบุว่า “จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัสเซียและประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวคิดเดียวกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของโลกหลายขั้ว สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมั่นคง และปกป้องระบบระหว่างประเทศที่อิงกับสหประชาชาติ” บ่งบอกถึงจีนยังมีความหวังว่าสหประชาชาติยังพึ่งพาได้

ถ้อยคำของหวังสะท้อนถ้อยแถลงของปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซีย และปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำจีน เมื่อพวกเขาพบกันที่ปักกิ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปูตินยังกล่าวด้วยว่าเขาและสี “มีมุมมองที่เหมือนกันในการแก้ไขปัญหาของโลก”

ในการประชุมอย่างจริงใจกับเพื่อนร่วมงานชาวรัสเซีย หวังยังกล่าวด้วยว่า ปักกิ่งจะ“ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และจุดยืนที่ยุติธรรมต่อความขัดแย้งในยูเครน และมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการอำนวยความสะดวกต่อการเจรจาสันติภาพ”

นอกจากนี้ จีนยังยกย่องและเชื่อมั่นในจุดยืนที่มีเหตุผลและมีความรับผิดชอบของรัสเซีย ต่อการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่เชื่อการโหมโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตกที่ว่ารัสเซียเป็นผู้ต้องการทำสงครามนิวเคลียร์ 

ความจริงนั้นตรงกันข้าม ตะวันตกเป็นฝ่ายกระตุ้นและสร้างเงื่อนไขการใช้นิวเคลียร์ในทุกจุดวาบไฟของโลกในสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่ผ่านมา มอสโกว์ได้ยืนยันคำมั่นสัญญาซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างชัดเจนต่อแถลงการณ์ร่วมต่อต้านสงครามนิวเคลียร์โดย ๕ มหาอำนาจปรมาณู ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า สงครามนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และไม่ควรต่อสู้ นั่นไม่ได้ทำให้รัฐบาลตะวันตกหยุดกล่าวหารัสเซียว่าคุกคามนิวเคลียร์ ดังที่ปธน. ไบเดนยังทำในการพบปะกับสีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ในขณะที่คำพูดของสี ก่อนและหลังการประชุมกับไบเดน แสดงความปรารถนาที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่กำหนด”เส้นสีแดง” ของปักกิ่งไว้อย่างชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง เขาเตือนสหรัฐฯไม่ให้สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบนเกาะไต้หวัน และขอให้วอชิงตันปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร 

สีกำชับกับไบเดนว่า“รัฐบุรุษควรคิดและรู้ว่าจะนำประเทศไปทางไหน นอกจากนี้ เขาควรคิดและรู้วิธีที่จะเข้ากับประเทศอื่นๆ และโลกกว้าง” ประเด็นนี้เมกาฟังแล้วเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ยังคงทำหน้ามึนเดินหน้าหนุนไต้หวันต่อไปแม้ไบเดนจะให้สัญญาว่าหนุนจีนเดียว 

การกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดจี-๒๐ ครั้งที่ ๑๗ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ปธน.สี จิ้นผิง ได้เรียกร้องให้สมาชิกทุกประเทศรับผิดชอบโดยธรรมชาติของการเป็นผู้เล่นรายใหญ่ระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค เพื่อตอบคำถามในยุคของเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกนี้ เราควรจะทำอย่างไรกับมัน” 

การทำงานร่วมกันเพื่อทำให้การพัฒนาทั่วโลกมีความครอบคลุม เป็นประโยชน์ และยืดหยุ่นมากขึ้น คือทางออกที่จีนเสนอให้

ผู้นำจีนเน้นย้ำว่า “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันคือความแข็งแกร่ง แต่การแตกแยกไม่ได้นำไปสู่สิ่งใด การอาศัยอยู่ในหมู่บ้านระดับโลกเดียวกัน เราควรยืนหยัดเคียงข้างกันเมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทาย”

เขากล่าวว่า“เราต้องระลึกถึงความยากลำบากที่ประเทศกำลังพัฒนาเผชิญอยู่เสมอ และพร้อมรับมือกับความกังวลของพวกเขา จีนจึงชอสนับสนุนสหภาพแอฟริกาในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก จี-๒๐” 

จากการศึกษาทั่วโลกที่จัดทำโดย CGTN Think Tank และ Chinese Institute of Public Opinion ที่มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน มีเพียงร้อยละ ๖ ของคนทั่วโลกที่เชื่อว่าโลกจะเป็นขั้วเดียวในอนาคต ซึ่งถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ หรือจีน ในขณะที่ ๓๔ เปอร์เซ็นต์คิดว่าโลกหลายขั้วเป็นโอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุด

การศึกษาครั้งใหม่ซึ่งสำรวจผู้คนจาก ๒๒ ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย อียิปต์ และไนจีเรีย ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับแนวทางสิทธิมนุษยชนของจีน แม้ว่าชาติตะวันตกหลายประเทศยังเชื่อมั่นในโลกอำนาจเดี่ยวก็ตาม

ผลการสำรวจยังเป็นข้อบ่งชี้อีกประการหนึ่งว่า ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อหลักการพหุภาคีและระเบียบโลกใหม่ไม่ใช่รัสเซียและการผงาดขึ้นอย่างสันติของจีน แต่เป็นสหรัฐฯ 

ด้วยความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะดำเนินการด้วยนโยบายต่างประเทศฝ่ายเดียวและผลักดันความทะเยอทะยานของตนอย่างไม่สนใจผลกระทบต่อประเทศอื่น ทำให้ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ต้องยืนหยัดสร้างความร่วมมือพหุภาคีมากขึ้น  

ความพยายามที่เป็นไปไม่ได้ในการครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จ อาจทำให้เกิดการระเบิดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้ายแรงต่อความทะเยอทะยานระดับโลกของวอชิงตัน อะไรจะทำให้อเมริกาตกต่ำมากไปกว่านี้ได้อีก? ในโลกหลายขั้วที่เต็มไปด้วยการค้า การลงทุน และการเดินทางจำนวนมหาศาล ความท้าทายทางทหารและภูมิรัฐศาสตร์นั้นยิ่งใหญ่กว้างไกล เกินกว่าที่เมกาและพวกจะเอาชนะได้โดยง่าย  และหากจะต้องเผชิญกับความโกลาหลภายในประเทศทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมซ้ำเติมเข้าไปอีก ไม่ว่าจะพยามยามผลักสงครามให้ไปเกิดนอกบ้านแค่ไหน สหรัฐฯก็จะหนีไม่พ้นเพราะเป็นตัวต้นเหตุ และจะต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!!??