ท่ามกลางศึกรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แม้ว่ายูเครนจะประกาศชัยที่เข้าไปในเขตเคอร์ซอนได้แล้วก็ตาม แต่แท้จริงสงครามยังไม่จบแค่นั้น รวมทั้งบนเวทีประชุมการพูดถึงปมสงครามก็ดุเดือดไม่แพ้กัน โดยมีรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้อ้างแหล่งข่าวว่า นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย อยู่ฟังการกล่าวปราศรัยทางไกลของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนในที่การประชุมสุดยอดกลุ่ม G20
การกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวเป็นกำหนดการสำคัญในการประชุมรอบแรกของการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลีในอินโดนีเซีย ซึ่งเปิดฉากขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. และแสดงให้เห็นว่าความตึงเครียดและผลกระทบจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครนนั้นยังคงมีอยู่
ปธน.เซเลนสกีเรียกร้องขอการสนับสนุนจากกลุ่มที่ปธน.เซเลนสกีเรียกว่า G19 ซึ่งสื่อถึงกลุ่ม G20 ที่ไม่รวมรัสเซีย ขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละรอบนั้นจะแตกต่างกันไป แต่พบว่าในการกล่าวสุนทรพจน์ของปธน.เซเลนสกีนั้นมีผู้ร่วมฟังจนเต็ม โดยมีนายลาฟรอฟรวมอยู่ด้วย
หลังปธน.เซเลนสกีกล่าวจบ นายลาฟรอฟ ที่เข้าร่วมการประชุมแทนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้ขึ้นพูดต่อ แต่ระบุว่าจะตอบโต้ปธน.เซเลนสกี โดยได้ระบุย้ำคำกล่าวอ้างของปธน.ปูตินว่า ปฏิบัติการในวันที่ 24 ก.พ.ของรัสเซียเป็นไปเพื่อสู้รบกับกลุ่มนีโอนาซีในยูเครนเท่านั้น แม้ทางทำเนียบเครมลินไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ตาม
ระหว่างที่นายลาฟรอฟกล่าว มีผู้ฟังอยู่เต็มห้องประชุมและไม่มีการวอล์กเอาต์หมู่แต่อย่างใด ถือเป็นชัยชนะเชิงวาทศิลป์ของรัสเซีย แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใด ๆ จากผู้ฟัง ซึ่งบ่งชี้ว่ากลุ่มผู้นำโลกเหน็ดเหนื่อยกับคำกล่าวอ้างของรัสเซียหลังสงครามในยูเครนเข้าสู่เดือนที่ 9 แล้ว
ในถ้อยแถลงของปธน.เซเลนสกีได้มีการยืนยันว่า ยูเครนกำลังทำงานร่วมกับประเทศผู้สนับสนุนเพื่อหาเงินทุนในการส่งออกธัญพืชลอตใหม่ในช่วงที่เป็นการครบรอบเหตุการณ์มหาทุพภิกขภัย ในช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างกว้างขวางจนนำไปสู่อัตราการตายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ถือเป็นการผลักดันเชิงสัญลักษณ์ที่มีขึ้น ท่ามกลางการหารือเพื่อขยายข้อตกลงที่อนุญาตให้ส่งออกธัญพืชจากท่าเรือที่ได้รับผลกระทบจากสงครามได้
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้นำใน G20 จะมองว่าอยากให้สงครามระหว่าง 2 ประเทศนี้จบลง ก็มีทั้งเสียงประณามรัสเซีย และเสียงที่เข้าใจการเคลื่อนไหวของรัสเซีย โดยเจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลมอสโก ยังได้กล่าวนอกรอบการประชุมด้วยว่า การที่สงครามกับยูเครนยืดเยื้อมานานเกือบ 9 เดือน เป็นเพราะรัฐบาลเคียฟ “เป็นปัญหาหลัก” ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา “ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายยูเครน” ซึ่งไม่เพียงแต่ยังคงปฏิเสธการเจรจา ทว่ายังคงกลับเดินหน้าเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้แม้อินโดนีเซียจะยืนกรานว่า G20 คือการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ “ไม่ใช่เรื่องการเมือง” อย่างไรก็ตาม สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกยังคงพยายามผลักดัน ให้ที่ประชุมออกแถลงการณ์ประณามรัสเซีย จากกรณีสงครามในยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เรียกร้องการถอดถอนรัฐบาลมอสโก ออกจากการเป็นสมาชิก G20 ด้วย