ข่าวดีรับเอเปค!! บิ๊กตู่ปลื้มJCR เพิ่มอันดับน่าเชื่อถือตราสารหนี้ไทย A+ โชว์ ๑๐ เดือนต่างชาติแห่ลงทุนแสนล้าน

0

รัฐบาลปลื้มผลสำเร็จ JCR เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของไทย ตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มเป็นระดับ A จาก A- และตราสารหนี้สกุลเงินบาทเพิ่มเป็นระดับ A+ จาก A สะท้อนผลสำเร็จนโยบายการเงิน การคลังและมาตรการรัฐ ขณะเดียวกับที่รายงานตัวเลขการลงทุนตรงจากต่างประเทศในรอบ ๑๐ เดือนพุ่งกว่า๑ แสนล้านบาท สะท้อนว่าประเทศไทยเนื้อหอมและเป็นหมุดหมายการลงทุนที่ต่างชาติให้ความสนใจมาก

วันที่ ๑๔ พ.ย.๒๕๖๕ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  รับทราบและยินดี ที่ไทย ได้อันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) โดยที่ตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-term Sovereign Credit Rating) เพิ่มจากระดับ A- เป็น A และตราสารหนี้สกุลเงินบาทเพิ่มจากระดับ A เป็น A+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) จาก บริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า จากรายงานของ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงการจัดอันดับของ JCR แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของนโยบายการเงินการคลังและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างประเทศทยอยเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ผ่านมาตรการทางภาษีเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยยกระดับภาคการผลิต เสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง มีศักยภาพการเติบโตในระยะปานกลางถึงยาว  ที่สำคัญ  JCR ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตประมาณร้อยละ ๓ และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ ๔ หรือมากกว่าในระยะต่อไปอีกด้วย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ประกอบกับภาคการคลังมีความเข้มแข็งจากการปฏิรูปภาษีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้จ่ายภาคการคลังได้ลดลงตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย และรัฐบาลมีเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี  JCR จึงคาดว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ได้ และสำหรับภาคธนาคารมีเสถียรภาพ และการเงินต่างประเทศยังมีความแข็งแกร่ง จึงคาดว่าไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลนับตั้งแต่ปี 2566 และที่สำคัญคือไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงจึงทำให้ให้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า “รัฐบาลขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินตามนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงเดินหน้าต่อในมาตรการต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้นและการพัฒนาประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด” 

ด้านกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ๑๐ เดือน ปี ๒๕๖๕ ต่างชาติลงทุนในไทย ๑๐๖,๔๓๗ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ถึง ๗๒% หรือ ๔๔,๔๖๙ ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง ตามด้วย จีน และสิงคโปร์ จ้างงานคนไทยรวม ๔,๖๓๕ คน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ ช่วง ๑๐ เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี ๒๕๖๕ มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน ๔๘๐ ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน ๑๘๑ ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน ๒๙๙ ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น ๑๐๖,๔๓๗ ล้านบาท จ้างงานคนไทย ๔,๖๓๕ คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด ๕ อันดับแรก ได้แก่

-ญี่ปุ่น ๑๒๕ ราย (ร้อยละ ๒๖) เงินลงทุน ๓๗,๗๓๘ ล้านบาท

-สิงคโปร์ ๗๕ ราย (ร้อยละ ๑๖) เงินลงทุน ๑๑,๖๙๓ ล้านบาท

-สหรัฐอเมริกา ๖๔ ราย (ร้อยละ ๑๓) เงินลงทุน ๓,๓๒๗ ล้านบาท

-ฮ่องกง ๓๕ ราย (ร้อยละ ๗) เงินลงทุน ๘,๓๗๕ ล้านบาท

-จีน ๒๒ ราย (ร้อยละ ๕) เงินลงทุน ๒๐,๘๔๑ ล้านบาท

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม-ตุลาคม ๒๕๖๕ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน ๙๔ ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC ๔๔,๙๔๘ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๔๒ ของเงินลงทุนทั้งหมด

ในจำนวนดังกล่าว เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ๔๐ ราย ลงทุน ๒๔,๒๓๖ ล้านบาท สิงคโปร์ ๘ ราย ลงทุน ๒,๐๐๖ ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา ๗ ราย ลงทุน ๑,๐๗๕ ล้านบาท