เลือกข้าง?? อาเซียนร้าวเดินตามเกมวอชิงตัน โดดเดี่ยวพม่าหนุนฝ่ายต้าน เนปิดอไม่ง้อประชุมรัสเซียคู่ขนาน

0

วิกฤตพม่ายังคงเป็นประเด็นหลักในวันแรกของการรวมตัวกันของกลุ่มภูมิภาคสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน หลังจากที่ไม่ให้ผู้นำพม่าเข้าร่วมประชุม อาเซียนได้มีมติเห็นพ้องมีส่วนร่วมกับฝ่ายต่อต้านในพม่าผ่านทูตพิเศษของกลุ่ม ทำให้พม่าออกมาประณามว่าเป็นพฤติกรรมแทรกแซงกิจการภายในหนุนฝ่ายตรงข้ามที่รัฐบาลเห็นว่า คือกบฎถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ได้จัดการประชุมร่วมกับทีมงานของรัสเซีย ลงนามความร่วมมือทางเศรษฐกิจสวนทางท่าทีของอาเซียนเต็มที่

วันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๔๐ และ ๔๑ และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยการประชุมจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

กลุ่มอาเซียนได้เห็นพ้องกันในแผนสันติภาพ ‘ฉันทมติ ๕ ข้อ’ กับพม่าในเดือน เม.ย.ปีก่อน ซึ่งทางกลุ่มมองว่ารัฐบาลทหารยังคงเพิกเฉยจนถึงตอนนี้ และกลุ่มได้พยายามมาเป็นเวลาหลายเดือนที่จะหาวิธีที่จะบังคับใช้แผนดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กลุ่ม 

ในวันศุกร์ ๑๑ พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก ร่างแผนดำเนินการที่กำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้ และวัดผลได้ พร้อมกรอบเวลาที่เฉพาะเจาะจง

ในคำแถลง ๑๕ ข้อ ที่ได้จากการเจรจาหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นเวลา ๒ วัน โดยไม่มีพม่าเข้าร่วม กลุ่มได้ตกลงที่จะมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในเร็วๆ นี้รวมถึงฝ่ายต่อต้านเนปิดอด้วย

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำหลายประเทศเริ่มเดินทางไปถึงกัมพูชา เช่น นายกรัฐมนตรี หลีเค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พบกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และลงนามความร่วมมือระหว่างจีน-กัมพูชา ๑๘ ฉบับ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เดินทางไปถึงกัมพูชาเมื่อวันที่๑๐ พ.ย.และจะอยู่ร่วมประชุมจนถึงจบรายการวันที่ ๑๓ พ.ย.นี้ 

การประชุมครั้งนี้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีพม่า ไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าประชุมด้วย เพราะอาเซียนต้องการแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจพม่า ต่อความล่าช้าในการทำตามฉันทมติ ๕ ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ซึ่ง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เคยตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ หลังการรัฐประหารผ่านพ้นไปแล้ว ๒ เดือน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ขณะที่ผู้นำ ๙ ประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นพม้า เริ่มการประชุมกันที่กรุงพนมเปญ หนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar สื่อของทางการพม่า ฉบับวันเดียวกัน ได้นำเสนอข่าวการประชุมระหว่างหลายกระทรวงในรัฐบาลพม่า กับผู้อำนวยการกองทุน RC-Investments ที่เดินทางมาจากรัสเซีย

กองทุน RC-Investments เป็นแขนขาทางการเงินของ Roscongress Foundation มูลนิธิที่ตั้งขึ้นโดยดำริของประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อปี ๒๕๕๐ โดยกองทุน RC-Investments ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตลอดจนโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัสเซียกับกิจการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

Alexander Sergeevich Shatirov ผู้อำนวยการกองทุน RC-Investments พร้อมทีมงาน เดินทางมาถึงกรุงเนปีดอของพม่า ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมๆ กับที่ผู้นำประเทศต่างๆเดินทางไปถึงกรุงพนมเปญของกัมพูชา

ในตอนเช้าของวันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน ผู้อำนวยการกองทุน RC-Investments นำทีมงานเข้าพบและประชุมร่วมกับ ดร.กานส่อ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพม่า หัวข้อที่สองฝ่ายพูดคุยกัน ประกอบด้วย การสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างพม้า-รัสเซีย และความร่วมมือของทั้งสองประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น การท่องเที่ยว การเกษตร เหมืองแร่ อุตสาหกรรม ไฟฟ้า พลังงาน วัฒนธรรม การศึกษา

ตอนเย็นวันเดียวกันมีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) สนับสนุนความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน พม้า-รัสเซีย ระหว่างกรมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศ กับกองทุน RC-Investments

วันรุ่งขึ้น ผู้อำนวยการ RC-Investments นำทีมงานประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหลักของพม่า ๔ แห่ง ได้แก่การประชุมร่วมกับ อู วินเฉ่ง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการคลัง อู ติ่นทุตอู รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน อู อ่องไหน่อู รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ อู ขิ่นหม่องยี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปิดท้ายด้วยการประชุมร่วมกับ อู อ่องต่อ นายกสมาคมมิตรภาพพม่า-รัสเซีย

หลังการประชุมอาเซียนครั้งนี้ได้สะท้อนท่าทีโดยรวมของอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา ที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อพม่าหนักยิ่งขึ่นแม้อินโดนีเซียจะรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า 

อย่างไรก็ตามวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ ได้เตือนว่ากองทัพพม่ามีความอดทนต่อความเจ็บปวดสูง มีความอดทนต่อการโดดเดี่ยวสูง และวิกฤตนี้อาจใช้เวลาหลายทศวรรษในการแก้ไข!!??