นายกอังกฤษเจ็บจี๊ด! เมกาแว้งกัด ล่มดีลซื้อก๊าซเหลว! ขนส่งข้ามทวีปบวกเงินโหด ไม่มีราคามิตรภาพ!
จากกรณีที่วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2565) Blockdit World Update ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่อังกฤษ ได้มีการเจรจาขอซื้อก๊าซเหลวจากสหรัฐและอีกหลายประเทศ ซึ่งราคาก๊าซเป็นราคาที่สูงมาก ทำให้ดีลการซื้อก๊าซล้มเหลวไม่เป็นท่า
โดยทาง World Update ได้ระบุว่า ตามกฎธรรมชาติสมดุลสิ่งหนึ่ง ก็จะรักษาสมดุลอีกหลายสิ่งในสังคมนั้นไปด้วย ทวีปยุโรป แต่เดิมนั้นใช้พลังงานจากฟอสซิลน้ำมัน ก๊าซ , นิวเคลียร์ยูเรเนียม , ถ่านหิน , พลังงานธรรมชาติหมุนเวียนลม น้ำ แสงแดด ขยะ ฯลฯ การใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ใช้เวลาพัฒนา ปรับเปลี่ยนสัดส่วนทีละน้อยมานานเป็นร้อยปี โดยแรกๆ ใช้ถ่านหินในสัดส่วนสูงสุด ระยะต่อมาค่อยๆ ลดลง แล้วเพิ่มสัดส่วนก๊าซ น้ำมัน นิวเคลียร์
ระยะหลังมามีการรณรงค์ลดโลกร้อนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศา ทำให้เกิดน้ำแข็งขั้วโลกละลาย สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง จึงเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนธรรมชาติจากน้ำ ลม แสงแดด ขยะฯลฯ แต่การลงทุนพลังงานหมุนเวียนนี้มีข้อจำกัดที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากมหาศาล จึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยชาติยุโรปที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากกังหันลมมาก เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์
แต่เมื่อยุโรป ทำตามสหรัฐ ชี้นำให้คว่ำบาตรพลังงานฟอสซิลราคาถูก ก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน แล้วหันไปใช้พลังงานในราคาแพงในรูปแบบเดียวกันจากสหรัฐ ทำให้ “สมดุลพลังงานไม่เปลี่ยน แต่ราคาเปลี่ยนเพิ่มขึ้นมาก” เมื่อเปลี่ยนเฉพาะราคาพลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยุโรปมีจำนวนเงินลดลงมหาศาลในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หรืออาจต้องหยุดชะงักชะลอไปอีกหลายสิบปีท่ามกลางวิกฤติพลังงานราคาแพงจากสหรัฐ
ภายหลังคว่ำบาตรพลังงานฟอสซิลราคาถูกรัสเซีย สหราชอาณาจักร มีข้อตกลงนำเข้าพลังงานราคาคาแพงขึ้น ฟอสซิลก๊าซเหลว LNG จากหลายประเทศ เช่น สหรัฐ , นอร์เวย์ , กาตาร์ แต่การเจรจาจะให้ราคาใกล้เคียงกับรัสเซียนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะสหรัฐ อยู่ต่างภูมิรัฐศาสตร์กัน จึงมีต้นทุนการผลิตสูงกว่ามาก และต้องขนส่งพลังงานทางเรือข้ามทวีปมา จึงต้องบวกราคาโสหุ้ยสูญเปล่านี้เข้าไปในราคาขายก๊าซด้วย
ส่งผลให้การเจรจาระหว่างอังกฤษกับบริษัทพลังงานสหรัฐ “ล้มเหลวไม่ประสบผลสำเร็จ” เพราะกระทรวงการคลังอังกฤษ ไม่อาจยอมรับสัญญาราคาก๊าซสหรัฐที่สูงมากในระยะยาวได้ เกิดความเสียเปรียบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แม้ว่านายกรัฐมนตรีริซี ซูนัค จะพยายามที่จะสรุปข้อตกลงระยะยาวเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดส่งเติมคลังก๊าซให้อังกฤษในฤดูหนาวนี้
แต่การผันผวนขึ้นลงของราคาในตลาดก๊าซ ทำให้รัฐบาลอังกฤษ ลังเล ที่จะตัดสินใจทำสัญญาซื้อก๊าซราคาแพงระยะยาวจากสหรัฐ แม้แต่การเจรจาสัญญาก๊าซระยะยาวระหว่างกาตาร์ และอังกฤษ ก็จบลงที่ความล้มเหลวตกลงกันไม่ได้
ปัจจุบันอังกฤษ จึงไม่มีสัญญาระยะยาวนำเข้าก๊าซ “ราคาขายส่ง”จากชาติใด มีแต่สัญญาระยะสั้น “ราคาขายปลีก” เดือนชนเดือน ซึ่งวิธีนี้ไม่มีใครทำกันเพราะจะถูกผู้ส่งออกก๊าซโขกสับราคาตามใจชอบ และปริมาณก๊าซที่จะได้รับมาก-น้อย ไม่แน่นอน
เพราะผู้ส่งออกก๊าซจะหันไปส่งให้ชาติลูกค้าสัญญาระยะยาวหลายปีก่อน เมื่อเหลือเศษจึงเจียดมาส่งให้ชาติสัญญาระยะสั้นเป็นครั้งคราวไป ดังนั้นอังกฤษ จึงยังคงอยู่ในขั้นตอนกำลังเจรจานำเข้าก๊าซเหลว LNG จากสหรัฐฯ
แต่การลงนามในข้อตกลงการจัดส่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ด้านนอร์เวย์ก็มีจุดยืนฮั้วกันคล้ายสหรัฐ กาตาร์ ไม่ยอมขายก๊าซราคาถูกให้อังกฤษ เพราะรู้ดีว่าอังกฤษไม่มีอำนาจต่อรองจากใช้ก๊าซรัสเซียแล้ว จึงอ้างว่าไม่พร้อมลงทุนโดยไม่มีการรับประกันระยะยาวที่ชัดเจน
ดังนั้นในอนาคตอังกฤษ จะไม่มีวันฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ในระยะต่อจากนี้ ตราบเท่าที่สหรัฐ นอร์เวย์ กาตาร์ ฮั้วกันกดขี่ดันราคาก๊าซให้แพงโด่งอยู่แบบนี้ และอังกฤษก็จะไม่มีเงินงบประมาณเหลือมากพอจะไปพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคตอีกด้วย ท่ามกลางความลังเลของรัฐบาลอังกฤษ เพราะเงินคงคลังร่อยหรอ ทำให้ตกลงสัญญาระยะยาวก๊าซราคาแพงกับคู่สัญญายังไม่ได้ นี่คือสาเหตุทำให้ไม่มีก๊าซใหม่มาเติมลงไปในคลังก๊าซสำรองของชาติ และมีแผนจะดับไฟฟ้าวันละ 3 ชม.ในช่วงฤดูหนาวนี้
ไม่ว่าอังกฤษจะเปลี่ยนนายกฯ กี่คน รัฐบาลกี่ชุด เลือกตั้งใหม่กี่ครั้ง ถ้าไม่ยุติคว่ำบาตรรัสเซีย แล้วทำสัญญาก๊าซระยะยาว มาต่อรองกับสหรัฐฯ นอร์เวย์ กาตาร์ ที่กำลังรุมทุบชาติเมืองผู้ดี ก็จะติดหล่มพลังงานแพง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เศรษฐถดถอย ประชาชนอดมื้อกินมื้อ การหยุดงานของสหภาพแรงงานต่างๆ ก็จะวนเวียนไม่จบไม่สิ้น บ่อนทำลายภายในอังกฤษ จนชาติอดีตมหาอำนาจโลกแห่งนี้ผุพังเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ จากนั้นสหรัฐ ก็จะกดรีโมทบริวารอังกฤษได้อย่างง่ายดายเสมือนดินแดน “ในอาณานิคม” ที่ไม่อาจโงหัวได้อีกตลอดไป นี่คือบทพิสูจน์ว่า เป็นศัตรูสหรัฐฯ อาจอันตราย แต่เป็นบริวารสหรัฐ อาจไม่รอดแน่นอน