แนวคิด มหาวิทยาลัยแห่งชาติ หนึ่งในแนวคิดเพื่อการปฏิวัติมหาวิทยาลัยไทยเพื่อความเป็นธรรมด้านการศึกษา

0

แนวคิด มหาวิทยาลัยแห่งชาติ หนึ่งในแนวคิดเพื่อการปฏิวัติมหาวิทยาลัยไทยเพื่อความเป็นธรรมด้านการศึกษา

รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

มีผู้ที่เคยอบรมกับสถาบันทิศทางไทย ได้นำวีดีทัศน์ที่ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เรื่อง “มหาวิทยาลัยปรับตัวหรือตาย? เมื่อใบปริญญาไม่จำเป็นอีกต่อไป” พร้อมทั้งได้สอบถามว่า “มหาวิทยาลัยไทย ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร?”

ผมขออนุญาตนำเสนอบางแนวคิดที่จะเป็นตัวอย่างในการคิดนอกกรอบเดิมๆ ซึ่งผมคิดว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรืออาจต้องปฏิวัติเพื่อความอยู่รอดต่อไป

มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลงแบบ ปฏิวัติ ให้ได้ ไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยจะตายไปอีกเป็นจำนวนมาก อาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัยต้องยอมรับและปรับเปลี่ยน มหาวิทยาลัยต้องให้คุณค่ากับอาจารย์ที่ไปมีบทบาทกับสังคม กับกลุ่มชน กับกลุ่มแนวคิดอื่น ไม่ใช่นั่งนินทาคนอื่น นั่งคุยถึงภูมิรู้ของตนข่มผู้อื่นไปวันๆ สอนก็ไม่เต็มที่วนเวียนซ้ำซากกับความรู้เดิมๆ ที่ไม่ค่อยได้ปรับจากสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่งบ้าอำนาจ ชื่นชมการมีตำแหน่ง หรือติดอยู่กับความเป็นอาจารย์ ตำแหน่งทางวิชาการต่างๆ อยู่แต่ในมหาวิทยาลัยไปวันๆ

ผมเคยนำเสนอ แนวคิด “มหาวิทยาลัยแห่งชาติ” เมื่อตอนไปบรรยายตอนประชุมวิชาการประจำปีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่นักเรียนที่จบ ม.ปลาย ทุกคน มีโอกาสในการลงทะเบียนกับ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ที่จัดทำขึ้นมาเฉพาะ ซึ่งไม่ต้องมีอาคาร สถานที่ ที่ต้องใช้งบดำเนินการเรื่องเหล่านี้ มีเพียงสถานที่เล็กๆหรือใช้ศูนย์ของรัฐบาลในการรับสมัคร แต่เน้นที่ระบบการเชื่อมข้อมูล การสร้างเครือข่าย การดำเนินการด้านข้อมูลดิจิทัลเป็นหลัก แล้วรัฐก็ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่พร้อมให้การเรียนแต่ละรายวิชาเพิ่มเติมจากที่สอนนักศึกษาของตนอยู่ เพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติ สามารถไปสมัครเข้าคิวเรียนในมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่เปิดสอนแต่ละรายวิชา ถ้าเรียนผ่านก็จะได้ ประกาศนียบัตรรายวิชา (Subject Certificate)

เมื่อนำมารวมกันครบตามรายวิชาที่รัฐประกาศไว้ในเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ก็จะสามารถนำไปยื่นขอจบปริญญาได้ หรือบางคนอาจเรียนเพื่อได้ประกาศนียบัตรบางรายวิชาเพื่อไปสมัครงานเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องได้ปริญญา เพราะปริญญามีความจำเป็นที่ลดลงอย่างมากหรืออาจไม่มีความจำเป็นอีกแล้วในอนาคต นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาตินี้ จะลงทะเบียนเรียนกับมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ที่อยู่ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยแห่งชาติจากรัฐบาลที่เปิดสอนรายวิชาที่เทียบเคียงกับที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติกำหนดในสาขาวิชานั้นๆ และมีการกำหนดจำนวนเอาไว้ในแต่ละเทอม นักศึกษาทุกคนจึงต้องสมัครเพื่อเข้าคิดหรือให้ข้อมูลบางอย่างตามที่รายวิชาของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นกำหนด

เช่น เทอมนี้ไม่ว่างต้องช่วยพ่อแม่ทำงานด้วยก็สามารถลงเรียนทางไกลกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่เปิดสอนทางไกลได้ หรือบางเทอมกลับก็อาจไปเรียนใกล้บ้างตาม ม.ราชภัฎฯ ต่างๆ ก็ได้ พอมีเวลาก็อาจไปเข้าคิวเรียนกับมหาวิทยาลัยที่ตนเองอยากเรียนในรายวิชานั้น เช่น วิชาด้านเกษตรจาก ม.เกษตรศาสตร์ วิชาด้านกฎหมายจาก ม.ธรรมศาสตร์ วิชาด้านการสาธารณสุขจาก ม.มหิดล เป็นต้น ผมคิดว่านี่แหละเป็นตัวอย่างการปฏิวัติการศึกษาไทย เพื่อความเท่าเทียมของคนในประเทศได้มากขึ้น

และตัวอย่างการปรับตัวของมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ ถ้าไม่สามารถผลักดันมหาวิทยาลัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ต้องปรับเน้นการสอนเน้นเป็นรายวิชา ไม่เน้นที่หลักสูตรมากเกินไป รายวิชามีความทันสมัยเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์ของการสร้างทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ หรือในอนาคต มุ่งเน้นการสร้างปัญญาไม่ใช่ความรู้อย่างเดียว ใช้การวิจัย การบริการวิชาการอย่างเต็มรูปแบบออกสู่สังคม สร้างแบรนด์ของตนเองให้สามารถอยู่ได้ มีการพัฒนารายได้จากการดำเนินการ เน้นการประยุกต์ใช้แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดต้นทุนให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน แล้วนำผลที่ได้เหล่านั้นมาให้กับการศึกษาที่จะสร้างคนเพื่อเป็นกำลังให้กับชาติในด้านต่างๆ ไม่ใช่มีรายได้หลักมาจากการจัดการเรียนการสอน ต้องได้มาจากการใช้วิชาการด้านอื่นแล้วนำมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน แบบนี้ผมคิดว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืน