จากกรณีที่เคยปรากฎเหตุการณ์ส.ส.สหรัฐฯ ทีมงานไบเดน อยากประท้วงจบศึกยูเครน ก็ทำให้เกิดความโกลาหลในทำเนียบขาว เพราะบรรดาส.ส. ที่เหลือ ยังมีอีกจำนวนมากที่อยากให้สงครามยังดำเนินต่อไป จนแผนเปิดทางเจรจาล่มมาแล้วหลายครั้ง ต่อมาเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ก็มีรายงานโฆษกรัฐบาลรัสเซีย เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้การเจรจากันระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับว่าวอชิงตันมีความตั้งใจยอมรับฟังความกังวลของมอสโกต่อปัญหาความมั่นคงหรือไม่
ทั้งนี้ประเด็นการเจรจาตอนนี้ ดูเหมือนว่าทั่วโลกจะกดดันไปยังสหรัฐฯมากขึ้น ที่ไม่สนใจเรื่องเจรจา และยังเดินหน้าให้งบยูเครนอีกรอบ ตามมาด้วยการซุ่มเตรียมกระบวนการบางอย่าง ในการซ้อมรบนิวเคลียร์ นอกจากจะมองไม่เห็นทางที่สหรัฐฯอยากจบศึกแล้ว ยังมีชนวนเหตุหลายปัจจัยที่สงครามจะยกระดับกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่หลาย ๆ ฝ่ายไม่คาดคิดได้เช่นกัน
แต่ล่าสุดมีสัญญาณชัดที่เซเลนสกีจะต้องยอมจำนนแพ้ เพราะสหรัฐฯ กำลังยุยงอย่างลับ ๆ ให้ยูเครนส่งสัญญาณเปิดกว้างรับการเจรจากับรัสเซีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เพื่อคงไว้ซึ่งแรงสนับสนุนจากประเทศอื่น ๆ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งกระทรวงการต่างประเทศอเมริกากล่าวหามอสโกกำลังทำให้สงครามลุกลามบานปลาย และไม่ปรารถนาอย่างจริงจังที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพ
โดยหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ้างแหล่งข่าวไม่ประสงค์เอ่ยนามระบุว่า เสียงเรียกร้องของเจ้าหน้าที่อเมริกา ไม่ได้มีเป้าหมายผลักดันให้ยูเครนกลับสู่โต๊ะเจรจา แต่เป็นความพยายามที่ผ่านการไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้ว เพื่อให้เคียฟยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากประเทศอื่น ๆ ต่อไป
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยูเครนยอมรับว่า จุดยืนของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ที่ไม่เจรจากับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ก่อความกังวลแก่หลายชาติในยุโรป แอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งสัมผัสถึงผลกระทบของสงครามที่มีต่อราคาอาหารและเชื้อเพลิงหนักหน่วงที่สุด
“ความเหนื่อยล้าเกี่ยวกับยูเครน เป็นเรื่องจริงสำหรับพันธมิตรของเราบางส่วน” วอชิงตันโพสต์รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม
เซเลนสกี ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ประกาศให้แนวโน้มการเจรจาใด ๆ ของยูเครนกับปูติน “เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” แต่ยังคงไม่ปิดตายประตูสำหรับเปิดเจรจากับรัสเซีย
สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่ารายงานข่าวนี้ถูกต้องหรือไม่ ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศรายหนึ่งกล่าวว่า “อย่างที่เราเคยพูดมาก่อนและจะขอพูดอีกครั้ง การกระทำส่งเสียงดังกว่าคำพูด ถ้ารัสเซียพร้อมเจรจา พวกเขาควรหยุดทิ้งระเบิดและขีปนาวุธ พร้อมกับถอนทหารออกจากยูเครน”
ด้านเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุระหว่างเดินทางเยือนกรุงเคียฟในวันศุกร์ (4 พ.ย.) ว่า แรงสนับสนุนของวอชิงตันที่มีต่อยูเครนจะยังคงมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลง หลังศึกเลือกตั้งกลางเทอมสภาคองเกรสในวันอังคาร (8 พ.ย.)
สหรัฐฯ แถลงมอบเงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครนอีก 400 ล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึงรถถัง T-72 ที่ผ่านการปรับปรุงใหม่จากสาธารณรัฐเช็ก และขีปนาวุธสำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศฮอว์ก ที่สามารถใช้จัดการกับโดรนและขีปนาวุธร่อนของรัสเซีย ส่งผลให้ยอดรวมความช่วยเหลือทางทหารที่อเมริกามอบให้แก่เคียฟแตะ 18,200 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกราน
มีคาอิโล โพโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน บอกว่า ยูเครนจะยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง แม้รัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน พร้อมระบุจะใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศยืนหยัดรับมือ ปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการบริโภค
คีรีโล ทีโมเชนโก รองหัวหน้าคณะทำงานทำเนียบประธานาธิบดี เขียนบนเทเลแกรม ว่า “วันนี้ สถานการณ์ด้านอุปทานไฟฟ้าที่ป้อนสู่พวกผู้บริโภคในเมืองหลวงเป็นไปอย่างยากลำบาก” แต่ขอรับประกันกับประชาชนเคียฟว่าปัญหาไฟฟ้าดับยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม
สื่อมวลชนหลายสำนักของรัสเซีย รายงานโดยอ้างหน่วยฉุกเฉินในวันอาทิตย์ ที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า โนวา คาคอฟคา เขื่อนขนาดใหญ่ของยูเครนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ได้รับความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่ของกองกำลังยูเครน แต่รายงานไม่ได้มอบหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวหา และทางรอยเตอร์ไม่ยืนยันข่าวนี้
สำนักข่าวทาสส์นิวส์ อ้างคำสัมภาษณ์ตัวแทนหน่วยฉุกเฉินระบุว่า จรวดลูกหนึ่งถูกยิงออกมาจากระบบขีปนาวุธไฮมาร์สที่ผลิตโดยสหรัฐฯ พุ่งโดนประตูเขื่อนและก่อความเสียหาย เจ้าหน้าที่รายนี้ระบุว่า มันเป็นความพยายามก่อสถานการณ์ด้านหายนะทางมนุษยธรรม ด้วยเป้าหมายทำให้เขื่อนแตก เขื่อนแห่งนี้กั้นขวางแม่น้ำดนิโปร บริเวณเหนือเมืองเคอร์ซอน ทางภาคใต้ของยูเครน ดินแดนที่กองกำลังยูเครนกำลังรุกคืบเมืองยุทธศาสตร์สำคัญแห่งนี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ทั้งรัสเซียและยูเครนกล่าวหากันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่า วางแผนทำให้เขื่อนแตกด้วยการใช้ระเบิด การกระทำที่จะทำให้น้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่ที่อยู่ตามกระแสน้ำ และมีความเป็นไปได้มันจะก่อความเสียหายเลวร้ายรอบ ๆ เมืองเคอร์ซอน ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย
ในสัญญาณล่าสุดเกี่ยวกับการล่าถอยของรัสเซีย ในหนึ่งพื้นที่ที่มีการสู้รบดุเดือดที่สุด ประธานาธิบดี ปูติน สนับสนุนมาตรการอพยพพลเรือนออกจากหลายพื้นที่ของแคว้นเคอร์ซอนในวันศุกร์ ที่ 4 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัสเซียเผยว่า โซนอพยพจะรวมถึงพื้นที่กันชน 15 กิโลเมตร ตามแนวตลิ่งทางตะวันออกของแม่น้ำดนิโปรด้วย