วิ่งสู้ฟัด!! แบงก์ชาติยันท่องเที่ยวหนุนศก.ไทยฟื้น คาดทั้งปีต่างชาติเที่ยว ๙.๕ ล้านคน ปีหน้ามากระฉูด ๒๑ ล้านคน

0

ธนาคารแห่งประเทศไทยมองจีดีพีปีนี้โต ๓.๓% ปีหน้า ๓๘% แต่ยังมีความท้าทายรออยู่ ปีนี้ได้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยในปีนี้ ๙.๕ ล้านคน ปีหน้าคาด ๒๑ ล้านคน แนะหลีกเลี่ยงมาตรการหวังผลระยะสั้น มีผลเสียระยะยาว

วันที่ ๒ พ.ย.๒๕๖๕ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย ๒๐๒๓ ในงานสัมมนา Thailand 2023 : The Great Remake 

เศรษฐกิจไทยจากการประมาณการของ ธปท. มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยจีดีพีปี ๒๕๖๕ ขยายตัว ๓.๓% และปี ๒๕๖๖ ขยายตัว ๓.๘% ได้แรงส่งหลัก จากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

คาดว่านักท่องเที่ยวปี ๒๕๖๕ จะมีจำนวน ๙.๕ ล้านคน และปี ๒๕๖๖ จะมีนักท่องเที่ยว ๒๑ ล้านคน 

มูลค่าการส่งออกปี ๒๕๖๕ ขยายตัว ๘.๒% และปี ๒๕๖๖ ชะลอการขยายตัวที่ ๑.๑% โดยเป็นทั้งมูลค่าการส่งออกและปริมาณการส่งออก นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า จีดีพีจะขยายตัวดีขึ้นในปี ๒๕๖๖ แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ธปท.และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวสูงขึ้น แต่สูงขึ้นไม่มาก และยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ไม่ได้เช่นนี้ หากภาพเศรษฐกิจปี ๒๕๖๖ โตต่ำกว่า ๓% จะมาจากปัจจัย ๓-๔ เรื่อง คือ 

๑.นักท่องเที่ยวลดลงมากจากเดิมที่คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวเข้ามาถึง ๒๑ ล้านคน ถ้าต่ำกว่า ๑๙ล้านคน เช่นกรณีนักท่องเที่ยวจีนไม่เข้าประเทศไทยเลย ก็มีสิทธิ์ที่จีดีพีประเทศไทยจะต่ำกว่า ๓% 

๒.มูลค่าการส่งออกที่คาดว่าปี ๒๕๖๖ จะชะลอตัวลงที่ ๑.๑% ถ้าเกิดการส่งออกติดลบ ๒% ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะต่ำกว่า ๒% 

๓.การบริโภคได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในปีหน้าที่ ๓.๓% ถ้าหมดลงที่ ๑% กว่าๆ ก็จะทำให้จีดีพีต่ำกว่า ๓% ได้เช่นกัน

นายเมธีกล่าวว่า “หากถามว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ คำตอบคือมีความเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตามใน ๓ ปัจจัยนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกันหากนักท่องเที่ยวลดลงมากการบริโภคภาคเอกชนจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื่องจากภาคบริการก็จะไม่ค่อยดี ภาคการท่องเที่ยวก็ไม่ดี ส่งผลให้การจ้างงาน การเพิ่มรายได้ของคนงานจะน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง” 

๔.เงินเฟ้อปี ๒๕๖๖ ถ้าจะสูงเกินกว่า ๕% ราคาน้ำมันโลกต้องอยู่ระดับ ๑๔๔ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งมีความเป็นไปได้ยากยกเว้นจะมีปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง เนื่องจากสัญญาณความต้องการน้ำมันในปีหน้าลดลงเนื่องจากหลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าปีนี้

นายเมธีกล่าวว่า การดำเนินนโยบายให้มีการฟื้นตัวอย่างที่ไม่สะดุด ในแง่ของ ธปท.จะดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเหมือนกับต่างประเทศ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยมีการชั่งน้ำหนักระหว่างหลายเป้าหมาย เช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน เรื่องหนี้เอกชนยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีในการปรับอัตราดอกเบี้ย และดูว่าความเหมาะสมในช่วงจังหวะควรเร่ง ควรหยุดจะเป็นอย่างไร รวมถึงมาตรการตรงอื่นก็จะทำให้ตรงจุดมากขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ไม่ควรทำคือมาตรการที่หวังผลระยะสั้นแต่มีผลเสียในระยะยาว เช่น ประเทศอังกฤษ กระทรวงการคลังไปทาง ธนาคารกลางไปอีกทาง ส่งผลให้การทำนโยบายไม่เหมาะสม ตลาดจึงเกิดความปั่นป่วนจากความเชื่อมั่นที่ลดลง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมีประเด็นความเสี่ยง ดังนั้น ในแง่การดำเนินนโยบายต่างๆ จะมีทั้งนโยบายที่ไม่เหมาะสม และหากทำจะสร้างความเสียหายได้

นายเมธีกล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากระยะสั้นยังสามารถเอาตัวรอดไปได้ แต่มาตรการระยะยาวมีปัญหามากสำหรับประเทศไทย เรื่องของผลิตภาพ ด้านการลงทุน แรงงาน และผลิตภาพโดยรวมของประเทศไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ในขณะที่ประเทศอื่นได้เร่งตรงนี้ขึ้นมา โดยภาครัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินการที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน โดยเร่งให้มีการทำ Regulatory Guillotine (RG) หรือเป็นการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดเลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นและสร้างภาระต่อการปฏิบัติให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐยังทำค่อนข้างน้อยและยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสังคมสูงวัยที่ควรจะทำในระยะยาวอีกด้วย