ประเทศไทย รับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 หรือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในปี ๒๕๖๕ ภายใต้แนวคิดหลัก OPEN. CONNECT. BALANCE. หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
ตลอดทั้งปีนี้ หน่วยงานต่างๆ จึงได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่างๆอย่างต่อเนื่องมากกว่า ๑๐๐ การประชุม แต่ไฮไลต์ ของการเป็นเจ้าภาพเอเปกครั้งนี้อยู่ที่ช่วงกลางเดือน พ.ย.๒๕๖๕ ที่จะมีการประชุมระดับ “ผู้นำ” วันที่ ๑๘-๑๙ พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โดยคาดหวังว่า ผู้นำของทั้ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจจะเดินทางมาร่วมประชุม และผู้นำจะสามารถออก “แถลงการณ์ร่วม” ผลักดันความร่วมมือระหว่างสมาชิกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
ในช่วงการประชุม ผู้นำ “สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก” (APEC Business Advisory Council : ABAC) หน่วยงานภาคเอกชนของเอเปกที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำ แก่ผู้นำและเจ้าหน้าที่เอเปกด้านเศรษฐกิจ และในส่วนของไทยอยู่ภายใต้ความร่วมมือของ “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน” (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “APEC CEO Summit 2022” วันที่ ๑๖-๑๘ พ.ย.๒๕๖๕
ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมประเด็นด้านเศรษฐกิจ และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการฝ่าวิกฤติ และความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงแนวทางการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคเอกชน เพื่อนำเสนอต่อ “ผู้นำ” ก่อนนำไปสู่การดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
วันที่ ๑ พ.ย.๒๕๖๕ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 ย้ำความพร้อมการจัดประชุมสุดยอด CEO ของภูมิภาคเอแปค มากกว่า ๙๐% แล้ว ทั้งสถานที่การจัดประชุม การดูแลต้อนรับ การรักษาความปลอดภัย และการจัดเลี้ยงรับรอง โดยเฉพาะโปรแกรมการประชุมที่ครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม เหลือเพียงรอการยืนยันที่ชัดเจนจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ ที่ภาคเอกชน ได้เชิญเข้าร่วมงาน รวม ๑๓ เขตเศรษฐกิจ
โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ และเบื้องต้นมี ๙ ประเทศตอบรับเข้าร่วม โดยมีการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ เปรู / ชิลี / เวียดนาม / ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ และมีแนวโน้มที่ดีมนการตอบรับทางวาจา คือ จีน / อินโดนีเซีย / แคนาดา และที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกาที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคปีหน้า โดยเฉพาะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ตอบรับขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์แล้ว รวมทั้งมีผู้นำองค์กรระดับโลก และผู้นำทางความคิด และ CEO ของทุกเขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุมและแสดงวิสัยทัศน์
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน หรือ กกร. บอกว่า เวทีดังกล่าวจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย สิ่งที่ดึงดูดลงทุน ความต้องการต่างๆ ผู้นำจากทุกประเทศรวมถึงผู้นำทางธุรกิจ จะได้มีโอกาสสะท้อนความต้องการ และความพร้อมในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบทั้งของไทย และประเทศอื่นๆ ให้สามารถเชื่อมโยงได้ทั้ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจถือเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ส่วนเป้าหมายหลักของการประชุม คือ การส่งเสริมการเปิดเขตเสรี การค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
ที่สำคัญยังเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและดึงดูดการลงทุน เพิ่มตัวเลขการท่องเที่ยว กระตุ้นการค้า และการส่งออก เพราะการมาร่วมประชุมของนักธุรกิจจาก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเป็นแรงเหวี่ยงในการฟื้นเศรษฐกิจไทย
ในช่วงจัดการประชุมยังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ด้วย เพราะจะมีการโปรโมตอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย รวมถึงของที่ระลึก ที่จัดเตรียมไว้สำหรับมอบให้กับผู้นำ และผู้เข้าร่วมงาน ได้ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย เพื่อโชว์ความเป็นไทยให้ผู้เข้าร่วมงานมีความประทับใจ