ดันศก.ฟื้น!? พาณิชย์ปลื้มส่งออก ๙เดือนขยาย ๑๐.๖% มูลค่า ๘.๒๙ ล้านล้านบ. สินค้าอาหาร-เกษตรโตยืนหนึ่ง

0

พาณิชย์ เปิดตัวเลขส่งออก เดือนกันยายน ขยายตัว ๗.๘% คิดเป็นมูลค่า ๒๔,๙๑๙.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผล ๙ เดือนของปี ๒๕๖๕ การส่งออกขยายตัว ๑๐.๖% มั่นใจไตรมาสสุดท้ายดีต่อเนื่อง คาดทั้งปีโต ๘%

วันที่ ๒๖ ต.ค.๒๕๖๕ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของในเดือนกันยายน และ ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ ว่า การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน ๒๕๖๕ ขยายตัว ๗.๘% คิดเป็นมูลค่า ๒๔,๙๑๙.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า ๒๕,๗๗๒.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว ๑๕.๖% ส่งผลให้ไทย ขาดดุล ๑๔,๙๔๘.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ภาพรวม ๙ เดือน ของปี ๒๕๖๕ (มกราคม – กันยายน) การส่งออก มีมูลค่า ๒๒๑,๓๖๖.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๘.๒๙ ล้านล้านบาท ขยายตัว ๑๗.๖% ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า ๒๓๖,๓๕๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว ๒๐.๗% 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอาหารที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ตามราคาอาหารทั่วโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง คาดว่าทั้งปีน่าจะได้ ๘% ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๔% 

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว ๑.๘% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว ต่อเนื่อง ๒๒ เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดีได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัว ๘๒.๙% ขยายตัวต่อเนื่อง ๕ เดือน ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้

ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว ๗.๗% หดตัวต่อเนื่อง ๒ เดือน หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินเดีย บราซิล และสเปน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี และแคนาดา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว๕.๖% หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว ๑๓.๗% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว ๙.๔% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง ๑๙ เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัว ๑๘.๓% ขยายตัวต่อเนื่อง ๒ เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไอร์แลนด์ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว ๘.๔% ขยายตัวต่อเนื่อง ๒ เดือน ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และ มาเลเซีย อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว ๘๙.๖% ขยายตัวต่อเนื่อง ๑๙ เดือน ขยายตัว ในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐ ฮ่องกง อินเดีย และเยอรมนี

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว ๑๐.๔% หดตัว ต่อเนื่อง ๒ เดือน หดตัวในตลาดจีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ เมียนมา ลาว และแอฟริกาใต้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว ๑๔.๐% หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน ทั้งนี้ ๙ เดือนแรก ของปี ๒๕๖๕ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว ๙.๐% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่ายังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย ทั้งปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่เริ่มคลี่คลาย และปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อันเกิดจากสถานการณ์เงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป