หลังจากที่ยุโรปกำลังเผชิญวิกฤติพลังงาน สืบเนื่องมาจากการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยมีรายงานว่า ขณะนี้ยุโรปได้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว สหราชอาณาจักรอุณหภูมิ 6 องศา , ยุโรปใต้ อิตาลี ฝรั่งเศสราว 16 องศา , ยุโรปเหนือฟินแลนด์อุณหภูมิ 0 องศา , เอสโตเนีย และชาติย่านทะเลบอลติกราว 6 องศา กรุงเคียฟ ยูเครน 10 องศา , ชายแดนทางใต้แนวหน้าสู้รบราว 14 องศา และมีฝนตกประปราย
ท่ามกลางการเมืองที่กำลังไม่มั่นคงในอังกฤษ ดูเหมือนว่าจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤติด้านพลังงาน ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก มีหลายฝ่ายจับตามองว่า รัสเซียเลือกเดินแผนยื้อสงครามนั้น เพื่อเอาคืนชาติยุโรป ที่มาคว่ำบาตรรัสเซียก่อน
ล่าสุดนักการเงินระดับหัวแถวรายหนึ่งส่งเสียงเตือนว่า สหราชอาณาจักรอยู่บนเส้นทางการเป็นคนป่วยของยุโรป และเสี่ยงจำเป็นต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จนกว่ารัฐบาลจะเตรียมเปิดเจรจาใหม่ในเงื่อนไขต่าง ๆ ของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต)
โดยกาย แฮนด์ส ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัทเทอร์รา เฟอร์มา แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ให้สัมภาษณ์กับรายงานทูเดย์ ของสถานีโทรทัศน์บีบีซีเมื่อวันจันทร์ ที่ 24 ต.ค.2565 ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของสหราชอาราจักรดูเหมือนจะถึงฆาต จนกว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟจะเลือกผู้นำที่มีความสามารถทางสติปัญญาและสั่งการให้เปิดเจรจาใหม่ในเงื่อนไขต่าง ๆ ของข้อตกลงเบร็กซิต
แฮนด์ส ซึ่งสนับสนุนให้คงสถานภาพสมาชิกอียู ในศึกประชามติในปี 2016 กล่าวต่อว่าข้อตกลงเบร็กซิตในปัจจุบัน ทำงานภายใต้หลักการ “ลัทธิแธตเชอร์สุดขั้ว” มีลักษณะสำคัญได้แก่ การตัดทอนค่าใช้จ่ายของรัฐ การลดภาษีทางตรงและเพิ่มภาษีทางอ้อม ลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งชาวสหราชอาณาจักรไม่เคยโหวตเห็นด้วย หรือแม้แต่แสดงท่าทีว่าอยากโหวตสนับสนุน
“พวกนักการเมืองควรตระหนักว่าข้อตกลงเบร็กซิตในปัจจุบันเป็นข้อตกลงที่ไร้ความหวังโดยสิ้นเชิงและรังแต่จะผลักให้สหราชอาณาจักรดิ่งสู่หายนะทางเศรษฐกิจความล้มเหลวในการดำเนินการใด ๆ ดูเหมือนจะนำไปสู่การปรับขึ้นภาษีและปรับขึ้นดอกเบี้ย และลดสวัสดิการสังคม และท้ายที่สุดคือต้องรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ”
อย่างไรก็ตามมีรายงานด้วยว่า โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วอังกฤษเกือบ 9 ใน 10 แห่ง เงินที่มีอยู่จะร่อยหรอไปหมดในช่วงปีการศึกษาหน้า หลังจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหึมา ท่ามกลางบิลค่าพลังงานที่พุ่งสูง เช่นเดียวกับเงินเดือนของบุคลากร ซึ่งจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานด้วย