บินไทยได้ไปต่อ!! ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หลังเจ้าหนี้ ๗๘.๕๙% โหวตผ่าน

0

ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว “การบินไทย” แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ลุยเดินแผนหาแหล่งเงินใหม่ แปลงหนี้เป็นทุน เพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นเดิม วงเงิน ๒.๕ หมื่นล้านบาท

วันที่ ๒๐ ต.ค.๒๕๖๕ ศาลล้มละลายกลาง ได้กำหนดนัดฟังคำสั่งพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟู “การบินไทย” โดยผลคือ ศาลล้มละลายกลาง มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูของการบินไทยฉบับแก้ไขแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิจารณาเห็นชอบให้การบินไทยแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เสนอ

หลังจากแผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับแก้ไข ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ๗๘.๕๙% รวมกระทรวงการคลัง ยังได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าแผนดังกล่าวจะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และสามารถกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายในปี ๒๕๖๘

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ การบินไทยก็จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เข้ามาเตรียมเรื่องของกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม ในวงเงิน ๒.๕ หมื่นล้านบาท ภายในปี ๒๕๖๗ ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ ๕ หมื่นล้านบาท 

เนื่องจากภาพรวมธุรกิจของการบินไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นตัว มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย ๘๐% ส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมอยู่ที่ประมาณ ๒ หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการ หลังศาลนัดฟังคำสั่งพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยก็จะเริ่มกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ การแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม วงเงิน ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท ภายในปี ๒๕๖๗ ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ ๕ หมื่นล้านบาท  โดยการเพิ่มทุนจะเพิ่มกับผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ถ้าผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิไม่หมด การบินไทยจึงจะหาทุนจากกลุ่มใหม่

ในส่วนของกระทรวงการคลังจะแปลงหนี้เป็นทุนและใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในฐานะผู้ถือหุ้น ก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย อยู่ที่ ๓๒% และหากรวมกับรัฐวิสาหกิจในสังกัดอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐก็จะอยู่ที่ราว ๔๐% กว่า

ทั้งนี้ตามสเต็ปควรจะเริ่มจากสินเชื่อใหม่ก่อน ซึ่งการบินไทยจะมีการเลือกระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน ๖ ปี ไม่เกิน ๑๒,๕๐๐ ล้านบาท หรือการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียนในวงเงินไม่เกิน ๑๒,๕๐๐ ล้านบาท แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเพิ่มทุนใหม่ เพราะเงินกู้ยืมระยะยาวจะให้สิทธิเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน 

สเต็ปที่ ๒ แปลงหนี้เป็นทุน และตามมาด้วยการเพิ่มทุน ซึ่งเบ็ดเสร็จการบินไทยจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ ๓๑,๕๐๐ ล้านหุ้น