หลังจากเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 เยอรมนีออกมาเปิดเผยว่า ชาติของตนเองได้รับน้ำมันน้อยลง แต่ยังคงมีอุปทานเพียงพอ หลังจากโปแลนด์พบรอยรั่วหนึ่งในท่อลำเลียงดรูซบา ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียป้อนสู่ยุโรป โดยวอร์ซอเผยว่าไม่พบเห็นสัญญาณว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการลอบก่อวินาศกรรม การพบรอยรั่วในเส้นทางหลักที่ลำเลียงน้ำมันสู่เยอรมนี ที่ทาง PERN บริษัทผู้บริหารงานตรวจพบเมื่อช่วงเย็นวันอังคาร ที่ 11 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นในขณะที่ยุโรปตื่นตัวระดับสูงในด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตามหลังปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้อุปทานก๊าซที่ป้อนสู่ทวีปแห่งนี้ลดลง
การเผชิญปัญหาอย่างหนักของเยอรมนี ทำให้หลาย ๆ ประเทศในสหภาพยุโรปมองว่า หากพี่ใหญ่ของ EU ไม่รอดในวิกฤติพลังงานนี้ ประเทศอื่นก็หมดหนทางเช่นกันนอกจากนี้มีรายงาน และยุโรปเอง ก็อยู่ในสภาวะการตื่นตัวระดับสูงเกี่ยวกับความมั่นคงทางโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของพวกเขา นับตั้งแต่พบรูรั่วใหญ่หลายจุดในท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 และนอร์ดสตรีม 2 เมื่อเดือนที่แล้ว โดยท่อทั้ง 2 ทำหน้าที่ลำเลียงก๊าซจากรัสเซียสู่ยุโรปลอดใต้ทะเลบอลติก ในขณะที่ตะวันตกและรัสเซียต่างกล่าวโทษว่ามันมีต้นตอจากการลอบก่อวินาศกรรม
ด้วยปมนี้ ทำให้ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ มองถึงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวในยุโรป ที่กำลังจะตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯในเร็ว ๆ นี้ โดยระบุว่า อเมริกาวางหมากฮอสหลายชั้นมาก แรกเริ่มเดิมที อเมริกาเห็นว่าอียูพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ต้องซื้อน้ำมันและก๊าซรัสเซียตลอดเวลา อเมริกาต้องการให้อียูเป็นลูกค้าตนแทนที่จะต้องซื้อจากรัสเซีย จึงหาเรื่องทำให้รัสเซียกับอียูทะเลาะกันขึ้นมา ด้วยวิธีส่งเครือข่าย CIA ไปไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยูเครน จากนั้นก็จัดตั้งรัฐบาลยูเครนโดยใช้หุ่นเชิดตนเป็นประธานาธิบดี ใช้คนของตนฆ่าชาวรัสเซียนับหมื่นกว่าคนในเขตดอนบัสของยูเครน ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ในเขตดอนบัสเพื่อให้รัสเซียโกรธแล้วยกทัพเข้าไปยูเครน
ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊ก Around the war world รอบโลกสงคราม ได้รายงานสถานการณ์ในเยอรมนี ที่อาจจะเกิดความปั่นป่วนอีกครั้ง และอดีตนายกฯหญิง อังเกลา แมร์เคิล ก็จะเข้ามามีบทบาท ไม่ยอมให้ประเทศของตน ต้องเป็นหมากและเบี้ยล่างให้สหรัฐฯอีกต่อไป
โดยมีเนื้อหา ระบุดังนี้ว่า ทำไม อังเกลา แมร์เคิล พูดถึงยูเครนหลังจากเงียบไปหลายเดือน อังเกลา แมร์เคิล นิ่งเงียบมานานหลายเดือนในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นแถลงการณ์หลายครั้งของเธอและยังเรียกร้องให้พิจารณาข้อกังวลของปูตินอย่างจริงจัง โดยเธอเคยกล่าวว่าไม่เสียใจต่อนโยบายพลังงานที่พึ่งพารัสเซีย
แมร์เคิลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเยอรมนีเพราะเธอบอกว่าต้องติดต่อกับรัสเซีย ด้วยเหตุผลนี้ เธอจึงพูดเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทั่วยุโรปโดยมีรัสเซียร่วมด้วย หลายคนเชื่อว่าสงครามในยูเครนจะไม่เกิดขึ้นหากเธอยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี ยังจำได้ว่าแมร์เคิล ไม่ให้ยูเครนเข้าร่วม NATO ในปี 2008 แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันก็ตามเธอเตือนว่าการเข้าสู่ NATO ของยูเครนจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม และเธอยังคงยืนหยัดการตัดสินใจนั้นในวันนี้เพราะแนวทางของยูเครนที่มีต่อ NATO นั้นเป็นเส้นสีแดงที่รัสเซียไม่สามารถยอมรับได้
นอกจากนี้ เธอยังปกป้อง Nord Stream 2 จนกระทั่งสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีการเยือนทำเนียบขาวครั้งล่าสุดของเธอทำให้การคว่ำบาตรไม่เกิดขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรีได้ช่วย Nord Stream 2 โดยต่อต้านแรงกดดันของวอชิงตันอย่างรุนแรง แต่ โอลาฟ ช็อลทซ์ ปิดมันหลังจากขึ้นสู่อำนาจ
ฝ่ายบริหารของอเมริกาตั้งแต่โอบามา ทรัมป์ และไบเดน ได้กดดันอย่างหนักต่อเยอรมนี แต่แมร์เคิลก็ยืนหยัดได้ ต่างกับ โอลาฟ ช็อลทซ์ที่ยอมจำนนต่อแรงกดดันและทำให้เยอรมนีเป็นเหยื่อตัวใหญ่ที่สุดของการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซีย ในรายงาน World Economic Outlook กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ระบุว่าเศรษฐกิจยุโรปกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยซึ่งรวมถึงเยอรมนีด้วย
Robert Habeck รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวว่า “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” จะ “กระจุกตัวในไตรมาสที่สามและสี่ของปีนี้และไตรมาสแรกของปี 2023”
การขาดแคลนพลังงาน ราคาที่พุ่งสูงขึ้น และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเยอรมันหดตัวในอีกสามไตรมาสข้างหน้า การคว่ำบาตรรัสเซียและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาก๊าซได้ทำให้เยอรมนีเข้าสู่วิกฤตด้านพลังงานที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง หลายบริษัทได้ลดการผลิตหรือปิดตัวลงเนื่องจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น นี่คือสถานการณ์ที่แมร์เคิลต้องการหลีกเลี่ยง เธอจึงสนับสนุนสันติภาพในดอนบาส
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของเยอรมนีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ปริมาณของการเปลี่ยนแปลง ระยะเวลา และความรุนแรงของฤดูหนาว ด้วยปริมาณการนำเข้าจากรัสเซีย เยอรมนีจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในสหภาพยุโรป หากมีการปิดก๊าซธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากสหภาพยุโรปยืนยันการจำกัดราคา สิ่งนี้จะทำให้เยอรมนีอ่อนแอลงอย่างมาก ด้วยเหตุข้างต้นนี้เองที่เธอกลับมาพูดถึงวิกฤตในยูเครนหลังจากเงียบไปหลายเดือน เพื่อเป็นการปกป้องสิ่งที่เธอสร้างไว้ก่อนลงจากตำแหน่ง
ดังนั้นน่าจับตามองว่า อดีตนายกฯเยอรมนีรายนี้ จะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ปกป้องบ้านเมืองของตัวเอง ให้พ้นจากภาวะสงครามที่ตึงเครียด และอาจจะลามไปถึงการงัดข้อกับสหรัฐฯ เพราะในเวลานี้ประชาชนเยอรมนีคงรู้ซึ้งแล้วว่า หากปล่อยให้ประเทศเจอปัญหาขาดแคลนพลังงานต่อไป การประท้วงจะยิ่งเดือด และผู้คนอาจจะไม่ต้องการอยู่ภายใต้การดูแลประเทศของ โอลาฟ ช็อลทซ์ อีกต่อไป