สามัคคีคือพลัง!! บิ๊กเอกชนพบบิ๊กตู่ ชง ๖๙ ข้อ แก้เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจหนืด หนุนAPEC 2022 ดันไทยผงาดโลก

0

ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ที่ใกล้จะถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ได้นำคณะเข้าพบ นายกฯ เสนอรายงานประจำปี พร้อมร่วมมือจัดการประชุม APEC๒๐๒๒ และยื่นข้อเสนอภาคเอกชน ๖๙ ข้อ ด้านการจัดการเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจโดยรวม

วันที่ ๑๑ ต.ค.๒๕๖๕ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC)เรียกโดยย่อว่า เอแบ็คพร้อมคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำส่งรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเพื่อเสนอผู้นำเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพ 

โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีต้อนรับประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคและคณะ พร้อมขอบคุณที่ได้จัดทำรายงานประจำปี ๒๕๖๕ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะของภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “EMBRACE. ENGAGE. ENABLE.” เน้นประเด็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเห็นว่า รายงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี ๒๕๖๕ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยด้วย 

ประธาน ABAC ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าพบในวันนี้ ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของไทยในปีนี้ 

ทั้งนี้ เชื่อมั่นการทำงานของนายกรัฐมนตรีจะทำให้การจัดการประชุมฯ สำเร็จลุล่วงด้วยดี นอกจากนี้ ประธาน ABAC ขอบคุณและชื่นชมแนวทางการทำงานของนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตลาดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งส่งผลต่อการกระชับความร่วมมือใน ๔ อุตสาหกรรมเบื้องต้น ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ ปิโตรเคมี อาหาร และวัสดุก่อสร้าง  

ขณะที่ ประธาน ABAC ยังได้นำส่งรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ ABAC ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน จำนวนทั้งสิ้น ๖๙ ข้อ โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดการเงินเฟ้อ การขจัดความไม่มั่นคงทางอาหารและพลังงาน การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิกเอเปค การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเจริญเติบโต ผ่านการสนับสนุน MSMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่ผู้หญิงและคนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ รวมถึงการพัฒนาและนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้ 

ทั้งนี้ สำหรับการประชุม ABAC ในปี ๒๕๖๕ ให้ความสำคัญกับ ๕ หัวข้อหลัก ได้แก่ 

-การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Integration Economic)

-ด้านดิจิทัล (Digital)

-ด้าน MSMEs และการมีส่วนร่วม (MSME & Inclusiveness)

-ด้านความยั่งยืน (Sustainability)  

-ด้านเศรษฐกิจและการเงิน (Finance and Economics) 

นายกรัฐมนตรี ขอบคุณสำหรับรายงานฯ เห็นว่าเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ รัฐบาลเร่งพัฒนาและแก้ปัญหาการส่งสินค้าข้ามแดน ผ่านการเจรจาทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขจัดอุปสรรคต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตามจากข้อเสนอแนะดังกล่าวถือเป็นการบ้านสำหรับประเทศไทยที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๒

เวทีนี้มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกจำนวน ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย  ไทยเป็นหนึ่งใน ๑๒ เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง

เอเปคมีประชากรรวมกว่า ๒,๙๐๐ ล้านคน หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า ๕๓ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก