มาถึงตอนนี้ดูเหมือนว่า ชิมช้อปใช้ จะกลายเป็นของดีที่จบไม่สวยเสียแล้วแม้ช่วงแรกคนจะแห่ออกมาใช้บริการ ซึ่งในแง่ปริมาณผู้สนใจย่อมถือว่าสำเร็จทะลุเป้า แต่ในแง่คุณภาพอันหมายถึงผลที่รัฐบาลคาดหวังในโครงการนี้น่าจะไม่ตรงตามเป้าประสงค์มากนัก??? โดยเฉพาะเฟส3ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวทำเศรษฐกิจทรุดหนัก จากของดีที่คนแย่งกันกลายเป็นของที่คนไม่อยากได้!?!
ลองมาดูสรุปรายละเอียดมาตรการ ชิมช้อปใช้ โดยเริ่มกันที่เฟส 3
ชิมช้อปใช้เฟส 3 เปิดเพิ่ม 2 ล้านสิทธิ เริ่มลงทะเบียน 14 พ.ย. 2562 กันสิทธิให้ผู้สูงอายุ 500,000 สิทธิ ลงทะเบียน วันที่ 17 พ.ย. 2562
ชิมช้อปใช้เฟส 3 ไม่แจก 1,000 บาท จะใช้สิทธิได้แต่กระเป๋าที่ 2 (Cash Back) เท่านั้น
มีการเพิ่มสิทธิให้ชิมช้อปใช้ทุกเฟส ขยายเวลาถึง 31 ม.ค. 2563 และ สามารถใช้สิทธิกับ ค่าใช้จ่ายแพ็คเกจท่องเที่ยว ที่พัก ค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบินในประเทศ และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง
Cash Back เงินคืนแบ่งเป็น 2 ช่วง 1. 15% จากยอด 30,000 บาทแรก 2. 20% จากยอด 30,000-50,000 บาท รวมคืนสูงสุด 8,500 บาท โดยเงินคืนจะได้คืนกลางเดือน ธ.ค. 62 กลางเดือน ม.ค. 63 และคาดว่าจะมีรอบสุดท้าย กลางเดือน ก.พ. 63
ยอดจากชิมช้อปใช้ทะลุ 10,000 บาท ในวันที่ 3 พ.ย. 2562 เพราะกระแสตอบรับที่ดี เพิ่มการใช้จ่ายและเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจทำให้มีการเพิ่ม ชิมช้อปใช้เฟส 3เพื่อเก็บตกประชาชนที่ลงทะเบียนไม่ทัน หรือพลาดสิทธิไป โดยเพิ่มสิทธิให้อีก 2 ล้านคน และกันสิทธิเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ 500,000 สิทธิ
ชิมช้อปใช้เฟส 3 เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มแบ่งลงทะเบียนเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบเช้า 6:00 น. และรอบเย็น 18:00 น. โดยแต่ละรอบจะจำกัดผู้ลงทะเบียนไว้ที่รอบละ 375,000 คน ต่อรอบ เพื่อกระจายกลุ่มการลงทะเบียนให้ทั่วถึง
สิทธิ ชิมช้อปใช้เฟส 3 เป็นสิทธิต่อเนื่องเหมือนเฟสก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ที่เคยลงทะเบียนไปแล้วไม่สามารถรับสิทธิซ้ำได้
สำหรับผู้สูงอายุจะมีการกันสิทธิพิเศษไว้ให้เผื่อลงทะเบียนไม่ทัน โดยกันสิทธิไว้ให้ 500,000 คน (จาก 2 ล้านสิทธิในรอบนี้) โดยสามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562
ชิมช้อปใช้เฟส 3 ไม่มีการแจกเงินจากกระเป๋าแรก หรือเงิน 1,000 บาท แต่จะให้สิทธิจากกระเป๋าที่ 2 เหมือนกับเฟสก่อนหน้าคือ จะได้รับเงินคืน 15% จากการใช้จ่ายกระเป๋าที่ 2 ไม่เกิน 30,000 บาท และเงินคืน 20% จากการใช้จ่ายกระเป๋าที่ 2 ที่เกิน 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50,000 บาท รวมแล้วจะได้รับเงินคืนได้มากสุดอยู่ที่ 8,500 บาท
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในเฟส 3 คือ ค่าใช้จ่ายแพ็คเกจท่องเที่ยว ที่พัก ค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบินในประเทศ และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง จากเดิมที่มาตราการ ชิมช้อปใช้ไม่เปิดให้นำค่าใช้จ่ายเหล่านี้มารวม และยังขยายเวลาใช้สิทธิที่จากเดิมจะสิ้นสุดช่วงเดือนธันวาคม 2562 จะขยายเวลาเป็น 31 มกราคม 2563 แทน
โดยทั้ง 2 สิทธิที่เพิ่มขึ้นมานี้ผู้ที่ลงทะเบียนใน ชิมช้อปใช้ เฟส 1 และเฟส 2 ก็ได้รับสิทธิเหล่านี้เพิ่มไปด้วย
สิทธิชิมช้อปใช้ทั้ง3รอบ
เฟส1 จำนวนสิทธิ 10ล้านคน ระยะเวลาใช้สิทธิ ถึง31ม.ค.63 (ขยายสิทธิ) กระเป๋าที่1 แจก 1000 บาท กระเป๋าที่2 คืนเงิน 15% 30,000 บาทแรก , คืนเงิน20% ยอด 30000-50000 บาท(เพิ่มสิทธิ) เพิ่มหมวด-การใช้สิทธิ ค่าใช้จ่าย-แพ็กเกจท่องเที่ยว ที่พัก ค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน-ในประเทศและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง
เฟส2 จำนวนสิทธิ 3ล้านคน ระยะเวลาใช้สิทธิ ถึง31ม.ค.63 (ขยายสิทธิ) กระเป๋าที่1 แจก 1000 บาท กระเป๋าที่2 คืนเงิน 15% 30,000 บาทแรก , คืนเงิน20% ยอด 30000-50000 บาท เพิ่มหมวด-การใช้สิทธิ ค่าใช้จ่าย-แพ็กเกจท่องเที่ยว ที่พัก ค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน-ในประเทศและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง
เฟส3 จำนวนสิทธิ 2 ล้านคน ระยะเวลาใช้สิทธิ ถึง31ม.ค.63 (ขยายสิทธิ) กระเป๋าที่1 ไม่แจก กระเป๋าที่2 คืนเงิน 15% 30,000 บาทแรก , คืนเงิน20% ยอด 30000-50000 บาท เพิ่มหมวด-การใช้สิทธิ ค่าใช้จ่าย-แพ็กเกจท่องเที่ยว ที่พัก ค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน-ในประเทศและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง
อธิบายสิทธิเงินคืน หรือ Cashback จะแบ่งเป็น 2 ช่วงด้วยกัน โดยช่วงแรกตั้งแต่บาทแรกจนถึง 30,000 บาท จะได้เงินคืน 15% จากยอดที่ใช้ไป ตัวอย่างเช่น ใช้ไป 10,000 บาท ได้เงินคืน 15% จากยอด 10,000 บาท หรือ 1,500 บาทนั่นเอง
ในส่วนที่ 2 คือยอดที่เกินจาก 30,000 บาท จนถึง 50,000 บาทจะได้เงินคืน 20% ถ้าใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทก็จะไม่ได้สิทธินี้ แต่ถ้าใช้เกินก็จะคิดเฉพาะส่วนที่เกิน 30,000 บาทขึ้นมา
ตัวอย่าง เช่น ถ้าใช้ไป 40,000 บาท ในส่วน 30,000 บาทแรก จะคิด 15% ได้เงินคืน 4,500 บาท ส่วนที่เกินมาอีก 10,000 บาทจะนำไปคิดเงินคืน 20% ได้คืนมาอีก 2,000 บาท แต่หากใช้เกิน 50,000 บาทขึ้นไปจะไม่ได้สิทธิส่วนที่เกิน 50,000 บาท แต่ยังได้รับสิทธิในยอด 50,000 แรกอยู่ ดังนั้นผู้ที่ใช้จ่ายกระเป๋า 2 ยอด 50,000 บาท กับ ยอด 70,000 บาทจึงได้เงินคืนเท่ากัน
การรับเงินคืนจากกระเป๋าที่ 2 (Cash Back)
รับเงินคืนแบ่งจ่ายออกเป็น 2 รอบ โดยรอบแรกคำนวณจากการใช้จ่ายของยอดวันที่ 27 กันยายน 2562 จนถึง 30 พฤศจิกายน 2562 โดยยอดนี้จะได้รับเงินคืนในช่วงกลางเดือน ธันวาคม 2562 นี้
รอบที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จนไปถึง 31 ธันวาคม 2562 จะได้รับเงินคืนในช่วงกลางเดือนมกราคม 2563 ส่วนค่าใช้จ่ายมกราคม 2563 ที่ได้เพิ่มเข้ามาจากการปรับเปลี่ยนหลังมีมาตราการชิมช้อปใช้เฟส 3 ยังไม่มีประกาศแต่คาดว่าจะได้รับกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ผลลัพธ์การใช้จ่ายจากมาตราการ ชิมช้อปใช้
การใช้จ่าย ชิมช้อปใช้ มียอดการใช้จ่ายรวมทะลุ 10,000 ล้านบาทในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 โดยมียอดจากกระทรวงการคลังในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ ยอดเงินรวม 10,667.3 ล้านบาท
ร้านชิม 1,460.1 ล้านบาท
ร้านช้อป 6,171.7 ล้านบาท
ร้านใช้ 141.7 ล้านบาท
ร้านค้าทั่วไป 2,893.8 ล้านบาท
ผลลัพธ์ชิมช้อปใช้ เฟส3
18 พ.ย. 2562 ฝ่ายค้านโดยร.ท.สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง ชิม ช้อป ใช้ เฟส 3 ว่า มีผู้มาลงทะเบียนต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่เข้ามาลงทะเบียน สะท้อนภาพปัญหาเศรษฐกิจของไทยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นที่ตกต่ำลง
ก่อนหน้านี้คือเมื่อวันที่ 11 พ.ย.62 ร.ท.หญิง ออกมาวิพากษวิจารณ์ถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลโดยอ้างข้อมูลจากนักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์ว่า โครงการชิม ช้อป ใช้ ทั้ง 2 เฟส เป็นโครงการที่ล้มเหลว เม็ดเงินที่ได้ กลับเข้าไปสู่ภาคการท่องเที่ยวเพียงแค่ 0.06 % เท่านั้น ซึ่งพบว่าประชาชนใช้เงิน 1,000 บาทไปซื้อเครื่องดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค แต่ไม่ได้นำเอาไปใช้ในการท่องเที่ยว
ชิมช้อปใช้ ความสำเร็จที่ล้มเหลว??? ไอเดียดี แต่ปัญหาท่วม?
ชิมช้อปใช้ เป็นโครงการของรัฐบาลที่มีเป้าประสงค์อยากจะสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ ให้เศรษฐกิจฟื้นฟู จึงออกนโยบายแจกเงิน 1,000 บาทให้คนออกไปซื้อของกับร้านค้าที่เข้าร่วม ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน โดยร้านค้าที่เข้าร่วมก็มีทั้ง ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ร้านขายของจิปาถะไปจนถึงซูเปอร์มาเก็ตใหญ่
วิธีร่วมใช้คือ ลงทะเบียน กรอกข้อมูล โหลดแอพ สแกนหน้า ผ่าน และยืนอยู่หน้าซูเปอร์มาร์เก็ตใช้เงินที่ได้รับมาเป็นจำนวน 1,000 บาท
เหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการใช้คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตบางที่ ให้คนที่จะใช้สิทธิ์นี้รับบัตรคิวแล้วไปช้อปปิงและรอเรียกคิวเพื่อไปคิดเงิน ไม่ต้องต่อแถวรอ แต่ก็มีบางที่แจกคิวอยู่ที่ 1,000 คิวต่อวันเท่านั้น หลังจากนั้นไม่รับอีกแล้ว ต้องมารับบัตรคิวในวันถัดไป
ขณะบางที่รับชำระเงินทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงห้างปิด แต่ต้องมาต่อแถวเอา ต่อคิวจนกว่าจะได้ช้อป?!?
แล้วระบบจ่ายเงินชิมช้อปใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ต การล็อกอินเข้าไปของร้านค้าใหญ่ อนุญาตให้ได้แค่มือถือเครื่องเดียวซึ่งผู้จัดการสาขาเป็นคนดูแล และเคาท์เตอร์ของร้านไม่สามารถชำระตรงได้แม้แต่เคาท์เตอร์เดียว นี่เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า
ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอนโยบายหรือแนวทางที่ดีกว่า “ชิมช้อปใช้” โดยยกตัวอย่าง แทนที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินเพื่อหวังเพิ่มอุปสงค์มวลรวมในระยะสั้นของประชาชน ก็อาจสามารถที่จะให้เงินจำนวนเดียวกันนี้ไปกระตุ้นผ่านกลไกตลาด เพื่อช่วยให้ประชาชนในวัยทำงานที่อยู่ในเขตเมืองและอื่นๆ ที่ยังมีภาระต้องดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุในครอบครัว เพื่อให้สามารถที่จะมีทางเลือกในการเพิ่มเวลาในการทำงานของตนเองให้เพิ่มมากขึ้นได้
การใช้เงินช่วยเหลือในลักษณะแบบนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเล็ก และผู้สูงอายุในเมืองอื่นๆ โดยรวมแล้วยังจะมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของหัวหน้าครัวเรือนในการเพิ่มชั่วโมงการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น
“เพราะเบาใจที่จะลดเวลาในการดูแลเด็กเล็กและคนสูงอายุในครัวเรือนด้วยตนเองให้ลดน้อยได้ ทำให้สามารถตั้งใจสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวให้มั่นคงและดีขึ้นในระยะยาวได้ ซึ่งก็จะส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วยเช่นกัน”
(https://bottomlineis.co/Social_Social_money_for_thai_traveling_trouble)
โครงการชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาล เข้าสู่เฟส 3 ต่อเนื่องรวดเร็ว เพราะเห็นว่าเฟส 1 กับ 2 ประสบความสำเร็จ แต่ข้อมูลที่เป็นจริงอย่างที่บอกหากเอาวัตถุประสงค์โครงการมาเป็นตัววัดผลความสำเร็จแทบไม่ปรากฏ ผู้มาลงทะเบียนเฟส 1 รวมกับเฟส 2 มี 13 ล้านคน
13 ล้านคน แจกไปคนละ 1,000 บาท เท่ากับ 13,000 ล้านบาท โดยมีความเชื่อว่าคนที่มาลงทะเบียนจะไม่ใช้แค่ 1,000 บาทที่ได้รับแจกที่เรียกว่ากระเป๋า 1 และแต่ละคนควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเพิ่มอีก 4-5 หมื่นบาท ด้วยตัวล่อคือรัฐจ่ายคืนให้ร้อยละ15-20 ของเงินที่จ่ายเพิ่ม ที่เรียกว่ากระเป๋า 2
แต่ของจริงที่เกิดขึ้นคือ แทบไม่มีความร่วมมือในการจ่ายเพิ่ม เป้าที่ว่าจะกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อหมุนตลาด จึงถือว่าพลาดเป้า!?!
นี่ยังไม่นับผลสำรวจของ “นิด้าโพล”
5 ต.ค. 2562 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ชิมช้อปใช้…ถูกใจหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง
เมื่อถามประชาชนถึงการลงทะเบียนโครงการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.37 ระบุว่า จะไม่ลงทะเบียน เพราะ ระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยากซับซ้อน
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.36 ระบุว่า เปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง
ถามถึงความคิดเห็นต่อภาพรวมโครงการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.95 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 25.62 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 22.60 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 21.09 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.74 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
3 พ.ย. 2562 นิด้าโพล สำรวจ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ถูกใจหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,266 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการลงทะเบียน โครงการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.97 ระบุว่า จะไม่ลงทะเบียน เพราะ ระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยากซับซ้อน
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ส่วนใหญ่ 26.70% ระบุว่า ระบบและกติกาการใช้จ่ายยุ่งยากซับซ้อนเกินไป รองลงมา 26.62% ระบุว่า เปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง
นั่นคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และผลสะท้อนความรู้สึกของประชาชนต่อชิมช้อปใช้ ซึ่งถึงวันนี้จะเห็นแล้วว่า สำเร็จในแง่ไหน-ล้มเหลวในด้านใด??? ก็หวังว่ารัฐบาลพึงตระหนักไม่คิดอะไรง่ายๆแบบนี้อีก เพราะผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้ก่อผลเสีย??? แม้จะคิดดี หวังดี แต่งานนี้…จบไม่สวย!!!