พาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกไทยรับมือ สหรัฐฯ – อียู เตรียมออกมาตรการเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน ทั้ง เชื้อเพลิงฟอสซิล ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน อะลูมิเนียม เอทานอล ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูป ด้านอียูจะนำร่องเก็บภาษีกับสินค้า ๘ ชนิด คาดเริ่มบังคับใช้ ปี ๒๕๗๐ ซึ่งแน่นอนย่อมกระทบยอดส่งออกที่ปีนี้คาดขยายตัว ๗% เป็นอย่างน้อย มีมูลค่าประมาณกว่ ๑๐ ล้านล้านบาทแน่นอน
วันที่ ๗ ต.ค.๒๕๖๕ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศคู่ค้าของไทย พบว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายกำหนดมาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกกับสินค้าที่กระบวนการผลิตส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง ด้านสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA)
ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยเสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐฯ และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน ๕๕ ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอน ๑ ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
โดยจะบังคับกับสินค้า อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี ๒๕๖๗
และภายในปี ๒๕๖๙ จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
สำหรับสหภาพยุโรปยังอยู่ระหว่างการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะนำร่องเก็บภาษีกับสินค้า ๘ชนิด ที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี ๒๕๗๐
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบร่างกฎหมาย CCA ของสหรัฐฯ กับมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป พบว่า ทั้งสองมาตรการมีเป้าหมายเดียวกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ มาตรการ CBAM จะใช้บังคับกับสินค้านำเข้าเท่านั้น และจะเก็บภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนร่างกฎหมาย CCA จะใช้บังคับกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและสินค้านำเข้า และจะเก็บภาษีคาร์บอนเฉพาะส่วนที่เกินกว่ากำหนดเท่านั้น
สำหรับภาคการส่งออกไทยยังคงเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในปี ๒๕๖๕ นี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัว ๗% มูลค่า ๒.๙ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินไทยกว่า ๑๐.๘๖ ล้านล้านบาท
แต่นับจากนี้การส่งออกไทยมีแนวโน้มจะเผชิญความยากลำบากมากขึ้น จากความท้าทายใหม่ ๆที่เราต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเมื่อโลกจะไม่เหมือนเดิม มีการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ และการแบ่งขั้วทางการค้า ซึ่งการแบ่งขั้วทางการเมืองกับการค้า เศรษฐกิจจะถูกมัดรวมกันอย่างแยกกันไม่ออก โลกจะถูกบังคับแบ่งขั้ว แบ่งค่าย เลือกข้างมากขึ้น ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ
ประเทศไทยจะต้องอยู่รอด และฝ่าวิกฤติการแบ่งขั้ว และแบ่งค่ายทางการเมือง เศรษฐกิจของโลกต่อไปให้ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ไม่เช่นนั้นภาคส่งออกเราจะโตต่อไม่ได้!!