การออกจากหล่มทุกข์ที่ติดอยู่

0

การออกจากหล่มทุกข์ที่ติดอยู่

แม้ผมบำเพ็ญอยู่ที่บ้าน​แต่ก็สดับความทุกข์ของผู้คนเป็นจำนวนมาก​ผ่านทางโซเชียล

ปัจจุบันผู้คนที่ติดอยู่ในหล่มทุกข์มักตัดสินใจเลือกจุดจบแบบคิดสั้น

เนื้อหาของทุกข์มีหลากหลาย​ไม่ว่าทุกข์จากหนี้สิน​ ทุกข์จากความผิดหวังในความรัก​ ทุกข์จากความเครียดในที่ทำงาน​ ทุกข์จากความสัมพันธ์ในครอบครัว​ ทุกข์จากความซึมเศร้า​ ทุกข์จากความเจ็บป่วย​ และทุกข์จากความไม่สมหวังในชีวิต​รวมทั้งความผิดหวังทางการเมืองที่ไม่ได้ผู้นำดั่งใจตัวเอง

ไม่ว่าเนื้อหาของความทุกข์อันเป็นดราม่าของปัจเจกจะหลากหลายเพียงไหน​ สิ่งที่เป็นความจริงตรงหน้าสำหรับผู้นั้นที่ร่วมกันคือ​แต่ละคนล้วนกำลังเป็นทุกข์

… เมื่อเป็นทุกข์​ก็ต้องรู้ทุกข์​ และตระหนักให้ได้ก่อนว่า​ ตัวเราผู้กำลังเป็นทุกข์ต้องเป็นคนแก้ทุกข์นั้นที่ใจของเราเอง

เพราะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและเป็นที่มาของทุกข์มันทำไม่ได้ในทันที​ แต่ถ้าเราแก้ทุกข์ที่ใจตนเอง​เราทำได้ทันที​… ที่นี่และเดี๋ยวนี้

ตอนที่ผมไปอบรมหลักสูตรการพัฒนาจิตและสุขภาพอย่างบูรณาการที่สถาบันทิศทางไทย​ ในวันอาทิตย์ที่​ 24​ พฤศจิกายน​ที่ผ่านมา​ ผมได้ย้ำกับผู้เข้ามาอบรมเสมอว่า

“การพัฒนาจิตก็ดี​ การออกจากหล่มทุกข์ที่ติดอยู่ก็ดี​ มันต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม​ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมเสมอ​ ตรงนี้แหละคือหน้าที่ของครูผู้สอนวิชาชีวิต”

ผู้ที่อยู่ในความทุกข์​ต้องใช้​ “วิธีการที่เป็นรูปธรรม​ดึงตัวเองเข้าอยู่ในสภาวะจิตแบบกายรวมใจให้ได้ก่อน​”

นี่คือความสำคัญลำดับแรกสุดในการที่จะช่วยผู้ที่ติดอยู่ในหล่มทุกข์สามารถค่อยๆพาตัวออกจากหล่มทุกข์ที่ตัวเองกำลังติดอยู่ได้

(1) ยอมรับความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วก่อนอย่างตรงไปตรงมา

(2) ใช้วิธีการที่เป็นรูปธรรม​ดึงตัวเองไปสู่สภาวะจิตแบบกายรวมใจ​… ทำแบบนี้ทุกครั้งที่จิตของตัวเองรู้สึกทุกข์​

(3) จนกระทั่งผู้นั้นแลเห็นด้วยตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า​ ความทุกข์คือความคิด​ ที่กำลังทุกข์อยู่ก็เพราะความคิดที่เป็นทุกข์นั้นได้ยึดครองพื้นที่ในใจผู้นั้นอยู่​ไม่ยอมจากไปไหน ไล่ให้ไป​สักพักก็กลับมายึดครองพื้นที่ในใจต่อเหมือนเดิม

(4) เมื่อผู้นั้นได้สติกลับมาหลังจากเห็นทุกข์ในใจตนเองชัดแจ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า​ ทุกข์ในใจมันจะเริ่มคลายพิษสงเอง​ ตอนนั้นคือเวลาที่ผู้นั้นต้องวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขต้นตอของทุกข์นั้น​อย่างมุ่งมั่น​ อดทน​ไม่รีบร้อน​ค่อยเป็นค่อยไป​ เพราะไม่มีปัญหาชีวิตใดที่ไม่มีทางออก​ ต่อให้ต้องเผชิญกับความตาย​ ก็แค่เผชิญกับความตายด้วยความสงบ​ สติ​และจิตไม่หวั่นไหว

(5) “ความสำเร็จที่แท้จริง” คือการดึงความคิดของตัวเองมาอยู่ที่ทุกๆการกระทำตรงหน้า​ในปัจจุบันขณะด้วยสภาวะจิตแบบกายรวมใจเท่านั้น​… ความสำเร็จอย่างอื่นที่ต้องแบกความคาดหวังในผลลัพท์ล้วนเป็นที่มาของความทุกข์ที่ไม่จบสิ้นทั้งสิ้น

ในสายตาของพระโพธิสัตว์​ ความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิตคือการบรรลุจิตที่อิสระอย่างพุทธะ​

นอกเหนือไปจากนี้​หาได้มีความสำเร็จที่จีรังดำรงอยู่จริงเลย

 

ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย