จากที่บุคคลสำคัญของสหรัฐได้เดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อยั่วยุทางการจีน ต่อมาฝ่ายแผ่นดินใหญ่ก็ออกมาตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ ขณะที่ผู้นำไต้หวัน ได้แสดงท่าทีถึงสหรัฐในการให้ความช่วยเหลือปกป้องดินแดนด้วยกการขายอาวุธนั้น
ทั้งนี้ล่าสุดวันที่ 06 ตุลาคม 2565 สื่อต่างประเทศรายงานว่า ไต้หวันจะไม่พึ่งคนอื่น ๆ ในการป้องกันตนเอง จากคำประกาศกร้าวของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน เมื่อวันพุธที่ 5 ตุลาคม
แม้อีกด้านหนึ่งจะแสดงความยินดีต่อคำสัญญาของสหรัฐฯ ที่จะคุ้มครองความมั่นคงให้เกาะไต้หวัน จากสิ่งที่เธอเรียกว่าเป็นการล่วงล้ำอธิปไตยโดยจีน คำแถลงดังกล่าวของไช่ซึ่งบันทึกไว้ล่วงหน้า และเปิดให้บรรดาผู้ร่วมประชุมในเวทีสัมมนาแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตันรับฟัง มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน สัญญาเมื่อเดือนกันยายนว่า จะปกป้องไต้หวันในกรณีที่โดนจีนโจมตีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในการปราศรัยต่อเวทีสัมมนาของสถาบันโกลบอลไต้หวัน ซึ่งมีสำนักงานในวอชิงตัน ไช่ ยังได้ขอบคุณรัฐบาลไบเดน และสภาคองเกรสสหรัฐฯ สำหรับการยึดมั่นต่อพันธสัญญาด้านความมั่นคงของไต้หวัน และการอนุมัติขายอาวุธของสหรัฐฯ แก่ไต้หวันเมื่อเร็ว ๆ นี้ “แต่เราจะไม่พึ่งคนอื่น ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของเรา” ไช่ กล่าว
“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฉันถึงอยากเน้นย้ำว่า ไต้หวันมีหน้าที่โดยสมบูรณ์ในการปกป้องความมั่นคงของเรา และธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตประชาธิปไตยของเรา เรากำลังดำเนินการเพื่อปรับยุทธศาสตร์กลาโหมของเรา เพื่อเปลี่ยนภัยคุกคามที่เราเผชิญ”
แม้ทำเนียบขาวชี้แจงว่าคำสัญญาของไบเดน ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในนโยบายของสหรัฐฯ แต่ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งว่าบางทีเขาอาจจงใจลดความสำคัญคำพูดของตนเอง หรือไม่ก็อเมริกาไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่องความเป็นเอกราชของไต้หวันจริงๆจีน
ซึ่งมองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน ยกระดับการซ้อมรบทางทหารขนายใหญ่ ในการแสดงความขุ่นเคืองแต่การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม
นับตั้งแต่นั้นกองทัพจีนยังคงมีความเคลื่อนไหวด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง แต่ลดระดับลงอย่างมาก โดยเครื่องบินทหารของจีนยังคงบินข้ามเส้นกึ่งกลางที่แบ่งช่องแคบไต้หวันเป็นประจำ ในขณะที่เส้นกึ่งกลางดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นแนวกันชนอย่างไม่เป็นทางการมานานหลายปี
นอกจากนี้ไต้หวัน เปิดเผยอีกว่า มีฝูงบินรบของจีน บินข้ามเส้นกึ่งกลางจำนวนทั้งสิ้น 8 ลำ ไช่บอกว่าปฏิบัติการต่าง ๆ เหล่านั้น “บุกรุกอธิปไตยของไต้หวัน คุกคามสันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”
ขณะที่ เจมส์ มอเรียร์ตี ประธานสถาบันอเมริกันในไต้หวัน สถานทูตของวอชิงตันโดยพฤตินัยในไทเปกล่าวว่า “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ว่าสหรัฐฯ จะเข้าปกป้องไต้หวันหรือไม่ ไม่เคยถูกระบุไว้ในฐานะนโยบายในเอกสารใด ๆ “มันไม่เคยเป็นนโยบาย มันเป็นแค่การบอกเล่าในสิ่งที่เราจะทำ” อ้างถึงกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันที่บังคับใช้มานานหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน
มอเรียร์ตีกล่าวว่า “เอกสารดั้งเดิมระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เราจะทำบางอย่างหากมีความพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะของไต้หวันโดยการใช้กำลัง”
อย่างไรก็ตาม มอเรียร์ติ ไม่คิดว่า สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจะกำหนดเส้นตายสำหรับบุกยึดไต้หวันในปี 2027 เพียงแต่บอกว่ากองทัพจีนจะมีแสนยานุภาพทำเช่นนั้นภายในปีดังกล่าว “เราไม่แน่ใจว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อความคิดของเขาหรือไม่ เราไม่รู้ว่าความล้มเหลวของรัสเซียในยูเครน ส่งผลต่อสิ่งที่เขาคิดหรือไม่ แล้วมีเส้นตายที่หนักแน่นหรือเปล่า?”