จากที่วันนี้ (๓ ตุลาคม๒๕๖๕) รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย ได้นำเสนอบทความกรณี ที่รัสเซียโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศผนวก ๔ ภูมิภาคของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ หลังจากจัดการลงประชามติ พร้อมประกาศชัด “การผนวกดินแดนมีผลถาวรและเจรจาไม่ได้” (๓๐ กันยายน ๒๕๖๕) และตอกย้ำด้วย“ผลเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
ประชาชนได้ตัดสินใจแล้ว และเป็นการตัดสินใจที่เป็นหนึ่งเดียว”โดยดินแดนที่ผนวกในตะวันออกคือโดเนตสก์ และลูฮันสก์ และทางใต้คือ แคร์ซอน และซาปอรีเชีย โดยมีสัดส่วนถึงเกือบ ๑ ใน ๖ของดินแดนยูเครนทั้งหมด
สิ่งที่ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์เซเลนสกี ได้จากยุโรปและอเมริกาก็คือ คำร่วมประณาม การเตรียมดำเนินมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมในการจัดลงประชามติให้ทั้ง ๔ ภูมิภาคเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และการอนุมัติเงินเพื่อจัดซื้อหรือส่งอาวุธในการสนับสนุนการทำสงครามต่อ
คำถามคือ สิ่งที่ยุโรปและอเมริกาให้กับยูเครน เพื่อสนับสนุน ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์เซเลนสกี แล้วยังไง…
-การประณามรัสเซีย ซึ่งก็เห็นทำมาโดยตลอด ข่าวสารต่างๆ ทุกภูมิภาคของโลกนี้ก็มีอิทธิพลมาจากสื่อยักษ์ใหญ่ของโลกที่มาจากฟากฝั่งยุโรปและอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ประณามมา ๘-๙ เดือนแล้ว รัสเซียถูกประณามแล้วยูเครนได้อะไร
-การเตรียมดำเนินมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ซึ่งเป็นระลอกที่ ๘แล้วต่อรัสเซีย แต่รัสเซียก็ไม่ได้เป็นอะไรมากมาย แล้วยูเครนได้อะไร
-การอนุมัติเงินเพื่อจัดซื้อหรือส่งอาวุธในการสนับสนุนการทำสงครามต่อไปกับรัสเซีย ให้เงิน ให้อาวุธเพื่อให้ยูเครนทำลายคู่ต่อสู้ของยุโรปและอเมริกาโดยไม่ต้องใช้พื้นที่ของประเทศตนเองในการทำสงคราม ส่วนนี้ไม่ต้องถามว่ายูเครนได้อะไร เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สูญเสียดินแดน สูญเสียตึกรามบ้านช่อง สูญเสียชีวิต สูญเสียรายได้ สูญเสียการทำมาหากิน สูญเสียความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง สูญเสียอีกมากมายไม่รู้จะอธิบายยังไงได้หมด
นี่คือบทเรียนราคาแพงของยูเครนที่มีผู้นำที่ชื่อ โวโลดีมีร์เซเลนสกี ผู้ไม่สามารถสร้างความสมดุลของขั้วอำนาจโลก (Balance of superpower)โดยหลายฝ่ายเห็นว่าการขึ้นสู่อำนาจโดยการฝักใฝ่ขั้วอำนาจใหม่อย่างยุโรป และอเมริกา เพื่อสร้างฐานการเมืองระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงประเทศในสายตาผู้สนับสนุนการเอนเองประเทศไปสู่ความเป็นประเทศตามรูปแบบ (Model)ตะวันตกและอเมริกา โดยท้าทายต่อการสร้างสมดุลอำนาจของขั้วอำนาจเดิมของประเทศตนคือรัสเซีย ทำให้ขั้วอำนาจเดิมรู้สึกไม่ปลอดภัยในสถานการณ์การรุกคืบของขั้วอำนาจใหม่
นี่คือสิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องถอดบทเรียนเมื่ออยู่ในท่ามกลางหรือกันชนระหว่างขั้วอำนาจโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้มาก การที่ปล่อยให้นักการเมืองหรือผู้นำไปเสนอตัวต่อขั้วอำนาจที่จะส่งผลให้ตนเองได้เปรียบ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด เช่น การได้ชื่อว่ามีการยอมรับจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งตัวว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย หรือ การได้ผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ในเชิงความสัมพันธ์ทางการเมืองร่วมกัน การได้รับเงินสนับสนุนในการรณรงค์ทางสังคมที่มีการเมืองแอบแฝง อันจะทำให้มีความได้เปรียบทางการเมือง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์กับนักการเมือง กับผู้ที่ต้องการขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศ บางคน บางกลุ่มเท่านั้น แต่อาจนำมาซึ่งการสูญเสียมากมายต่อผู้คน บ้านเมือง และประเทศของเรา
อย่าปล่อยให้นักการเมืองหรือคนที่คิดจะเป็นใหญ่ในประเทศ คบหา นำพาขั้วอำนาจโลกมาพัวพันกับประเทศจนเกินความจำเป็นโดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา เพราะอาจทำให้สูญเสียการสร้างสมดุลระหว่างขั้วอำนาจ และประเทศก็อาจถูกนำไปเป็นชนวนของการสู้รบกันระหว่างขั้วอำนาจโดยมิอาจหลีกเลี่ยง อย่าสนับสนุนนักการเมืองที่เป็นสมุนขั้วอำนาจโลกให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยเด็ดขาด ดูบทเรียนราคาแพงของยูเครน จากการนำพาของ ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์เซเลนสกี เอาไว้… “บ้านเมืองและผู้คนในชาติจะได้ไม่ย่อยยับ อับจนหนทาง จากการถือหางของมหาอำนาจอย่างยุโรปและอเมริกา”