รศ.ดร.แสงเทียน ออกแถลงฯ “ศาลน่าเชื่อถือมากที่สุดเสมอในไตรอำนาจอธิปไตยสยาม”

0

ศาลน่าเชื่อถือมากที่สุดเสมอในไตรอำนาจอธิปไตยสยาม รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย (๓ ตุลาคม ๒๕๖๕)

จากกรณี คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ถึงความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก จำนวน ๖ ต่อ ๓ วินิจฉัยว่า

นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยนับแต่วันที่ ๖ เม.ย. ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๒๔ ส.ค.๒๕๖๕ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

ทำให้หลายฝ่ายออกมาให้ความคิดเห็นไปหลากหลายประเด็น การไม่เห็นด้วยมีเกิดขึ้นหลากรูปแบบ หลากผู้คน ที่ผนึกกำลังร่วมกันระหว่างในสภาและนอกสภา การชุมนุมกดดันศาลไม่ได้เกินความคาดหมายใดของผู้คนเช่นกัน หรือมีเหตุเพราะมีการตั้งธงไว้ก่อนคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หรืออาจอยู่ฝ่ายตรงข้ามที่งัดมาทุกวิธีการในการคัดค้านการทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกันมาอย่างชัดเจนว่า

ต้องเป็นไปตามที่กลุ่มตนคิดไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น “อภินิหารทางกฎหมาย” เกิดขึ้นอีก นี่คือวาระซ่อนเร้น (Hidden agenda) ของผู้ที่ยื่นมาตั้งแต่แรกหรือไม่ หรือมีการผนึกกำลังในหลากหลายฝ่ายทำเรื่องนี้กันหรือไม่
ลองพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นดูเถิด การกระทำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี้ เป็นการก้าวเดินในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายหรือไม่

-การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพร้อมตั้งธงคำตัดสินว่าต้องเป็นอย่างไร หรือไม่ โดยการให้สัมภาษณ์ให้ข้อคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่องว่าจะต้องเป็นอย่างไร

-การให้ข่าวสารไม่เว้นแต่ละวันเพื่อให้คนเชื่อว่าเป็นไปตามที่กลุ่มตนคิดไว้ มีหลักการทางกฎหมายที่ดีเพื่อสอดรับกับแนวคิดจากที่ตั้งธงไว้ล่วงหน้าก่อนการตัดสินของศาล

-ช่องทางข่าวสารของกลุ่มเห็นต่างรัฐบาลหรือช่องทางที่เคยโจมตีนายกรัฐมนตรีก็นำเสนอไปในทิศทางตามที่วางไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องหลุดจากตำแหน่ง ซ้ำไปซ้ำมา จนน่าแปลกใจ

-การชุมนุมรวมตัวกดดันศาล ซึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกินความคาดหมายใดของผู้คนในสังคมเช่นกัน การแสดงท่าทางของกลุ่มผู้ประท้วงที่แสดงความไม่พอใจด้วยการโห่ร้องทันที ที่ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาว่านายกรัฐมนตรียังดำรงตำแหน่งไม่ครบ ๘ ปี ก่อนจะอ่านแถลงการณ์คัดค้านคำวินิจฉัย ระบุว่า จะเดินหน้าขับไล่นายกรัฐมนตรีต่อ เพราะมองว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระไปตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว ตามที่ตั้งธงไว้…ใช่หรือไม่
คำที่ถูกนำมาใช้อาจถูกประดิษฐ์ขึ้นอีกหลากหลายคำหลายวลี แต่วัตถุประสงค์ยงคงเดิมๆ ของวาทกรรมเลือกข้าง

“การใช้อำนาจของรัฐบาลในปัจจุบันไม่ชอบด้วยกฎหมาย” “ไว้อาลัยให้กับระบอบการเมืองไทย” “อภินิหารทางกฎหมาย” “นายกรัฐมนตรีได้เปรียบทางกฎหมาย” “สองมาตรฐานของการตัดสินต่อรัฐบาลและฝ่ายค้าน” … ฯลฯ …
ย้อนกลับไปดู ว่าอะไรเกิดกับอำนาจสำคัญอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจตุลาการ ที่ถูกกระทำมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา

-ชุมนุมปราศรัยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญหลังให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากคดีพักบ้านหลวง (๒ ธันวาคม ๒๕๖๓)

-ศาลรัฐธรรมนูญถูกแฮกโจมตีเว็บไซต์เจาะระบบ ฝังเพลงฮิปฮอป ว่า Kangaroo Court หรือศาลเตี้ย หลังวันอ่านคำวินิจฉัยคดีม็อบสามนิ้วล้มล้างการปกครอง (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔)

-โพสต์กล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นสารตั้งต้นของการล้มล้างการปกครอง (๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔)
-ฯลฯ

ไม่ได้แปลกใจอะไรหรอก ถ้าจะกล่าวหาอีกเพราะได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าให้เทียบกันระหว่างอำนาจศาล กับอำนาจอีก ๒ ขั้วของการต่อสู้ทางการเมืองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ซึ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจที่ประเทศสยามยังไม่เคยแยกจากกันได้จริงเลยสักครั้ง ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ต่อสู้กันทุกวิถีทาง แก่งแย่งแข่งขันจนคนใจซื่อมือสะอาดทำเพื่อชาติเพื่อประชาชนแทบจะหาที่ยืนใน ๒ อำนาจนี้ไม่ได้ ความน่าเชื่อถือในอำนาจของสยามประเทศที่ยังคงน่าชื่อถือมากที่สุดจึงยังคงเป็นอำนาจตุลาการ ที่ทุกคนในประเทศนี้ต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้ถูกกระทำย่ำยีแม้แต่น้อยนิดด้วยชีวิตและวิญญาณของคนในสยามประเทศทุกคนต่อไป…