ยุโรปดิ่งนรก! เงินเฟ้อแตะหลัก ๑๐% ครั้งแรกประวัติศาสตร์ พลังงานพุ่ง ๔๐.๘% ประท้วงเดือดถีบส่งรัฐบาลลาม

0

นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารของในยูเครน สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียหลายชุดมาถึงวันนี้ก็เป็นชุดที่ ๘แล้ว วิกฤตการณ์สงครามและการคว่ำบาตรรัสเซียได้เร่งอัตราเงินเฟ้อทั่วยุโรปและส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ยุโรปจึงต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน ท่ามกลางการประท้วงเดือดขับไล่รัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงประชาชนในหลายประเทศ

เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่าสหภาพยุโรปได้สูญเสียเอกราชและกำลังประสบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาลจากการเดินตามวาระวอชิงตัน”

เขากล่าวว่า”การดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางที่ไร้ความคิดของพวกเขาในเรื่องคว่ำบาตรรัสเซีย’ นั้น พวกแองโกล-แซกซอนกำลังอยู่ใต้บังคับบัญชาของสหรัฐฯอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งกลุ่มประเทศตะวันตก นาโต้ และสหภาพยุโรป ซึ่งในที่สุดได้สูญเสียแนวทางการปกครองตนเองทางยุทธศาสตร์ไปแล้ว” 

คำพูดของรมว.ต่างประเทศรัสเซียคงไม่อาจสะกิดเตือนหรือเปลี่ยนใจสหภาพยุโรปได้ มติของอียูทุกประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซียถูกปักหมุดไว้แล้วต้องต่อต้านอย่างเดียว แต่ฤดูหนาวที่เยียนยะเยือกกำลังคืบคลานมาถึง

วันที่ ๒ ต.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์รายงานว่า แคดรี ซิมสัน กรรมาธิการพลังงานอียู(Energy Commissioner: Kadri Simson)ส่งคำเตือนประเทศสมาชิกว่า ฤดูหนาวที่จะถึงนี้จะยากลำบากอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ยังไม่มีทางออก

ซิมสันกล่าวระหว่างการแถลงข่าวหลังจากการประชุมพิเศษของรัฐมนตรีพลังงานของอียู จัดขึ้นเพื่อหารือการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นในยุโรป และเพื่อพัฒนาชุดมาตรการฉุกเฉินที่มุ่งช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจในยุโรปท่ามกลางวิกฤต

ข้อสรุปแผนการที่ตกลงกันในที่ประชุมได้แก่ การจำกัดรายได้ของบริษัทพลังงาน และการกระจายผลกำไรส่วนเกินกลับไปยังผู้บริโภค แผนดังกล่าวยังกำหนดให้มีการประหยัดพลังงานภาคบังคับ โดยกำหนดให้สมาชิกสหภาพยุโรปลดความต้องการพลังงานในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ๕% และแนะนำให้ลดการใช้ไฟฟ้าโดยรวม ๑๐%

เนื่องจากการส่งมอบก๊าซของรัสเซียไปยังสหภาพยุโรปลดลงมากถึง ๔๘% ในปีนี้ จากข้อมูลของก๊าซพรอม (Gazprom)ยักษ์น้ำมันของรัสเซีย  อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนได้พุ่งแตะตัวเลขสองหลักเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานนี้ เกรงว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก หลังจากท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมของรัสเซียได้รับความเสียหายจากการก่อวินาศกรรมเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เท่ากับต้องหยุดการส่งก๊าซไปยังยุโรปอย่างไม่มีกำหนดไปโดยปริยาย

นอกจากยังไม่มีหลักประกันในการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานในอียูแล้ว สถานะทางเศรษฐกิจของยูโรโซนก็เข้าขั้นอาการหนัก อัตราเงินเฟ้อตัวเลขสองหลักครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้น ๑๐% เหนือความคาดหมายสร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ให้ยิ่งขึ้นดอกเบี้ยกดเงินเฟ้อตามรอยสหรัฐฯหนักเข้าไปอีก

ราคาผู้บริโภคในยูโรโซนเมื่อเทียบเป็นรายปีสูงที่ ๑๐% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นับเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ที่เพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการกระชับนโยบายการเงินอย่างจริงจัง

ข้อมูลจากยูโรสแตท (Eurostat) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วยูโรโซนเพิ่มขึ้นจาก ๙.๑% ของเดือนสิงหาคม แซงหน้าค่ามัธยฐานที่ ๙.๗% และเป็นเดือนที่ ๕ ติดต่อกันของการขยับขึ่นของราคาสินค้า ซึ่งแซงหน้าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

อัตราเงินเฟ้อยังคงถูกขับเคลื่อนโดยต้นทุนอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ราคาพลังงานซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตรา ๔๑% ต่อปีในเดือนกันยายน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นใน ๑๙ ประเทศที่ใช้เงินยูโร ขณะที่ราคาอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น ๑๓%

หากไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๖.๑% จาก ๕.๕% ในเดือนสิงหาคม ในขณะที่ถ้าไม่รวมแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้นเป็น ๔.๘% จาก ๔.๓%

เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย สมาชิกอียูที่แอนตี้รัสเซียอย่างเอาการเอางาน อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า ๒๒% ตัวเลขสำหรับเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ ๑๗.๑% เพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า ๑๔% ในเดือนสิงหาคม สโลวาเกียเงินเฟ้อ ๑๓.๖% และจัดอยู่ในกลุ่มที่มีการเติบโตของราคาผู้บริโภคสูงกว่าค่าเฉลี่ยอีกด้วย 

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เยอรมนีรายงานเงินเฟ้อต่อปีที่ ๑๐.๙% ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นจาก ๘.๘% ที่บันทึกไว้ในเดือนก่อนหน้า ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นสาเหตุหลัก แม้ว่าโอลาฟ ชอลซ์(Olaf Scholz) นายกฯเยอรมันนีจะเดินทางไปยูเออีในการเจรจาซื้อแก๊ซเพื่อทดแทนแก๊ซรัสเซีย แต่ยูเออีก็ตกลงแบบเสียไม่ได้ให้มานิดเดียวไม่พอกับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

ด้านอังกฤษ ธนาคารของอังกฤษ(Bank of England) ทำยูเทิร์น กลับมาทำQE ซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพราะเกรงว่ากองทุนบำนาญจะล้มละลายจากตลาดพันธบัตรที่หัวทิ่มกันทั้งของสหรัฐและอังกฤษ เนื่องจากนักลงทุนหวั่นไหวความไม่แน่นอนของสถานการณ์ กังวลเรื่องRecession และเงินเฟ้อที่ดูท่าว่าจะยังไม่มีทางหมดฤทธิ์ง่ายๆ มิหนำซ้ำ ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ลิซซ์ ทรัส ก็ชักออกลายว่าไม่สามารถรับมือปัญหาพายุใหญ่เศรษฐกิจได้ การเมืองจึงเริ่มขยับส่อจะยื่นให้เลือกตั้งใหม่ทั้งๆที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง

ผลที่เกิดขึ้นกับยุโรปทั้งมวลนี้ ยุโรปเลือกที่จะเดินตามสหรัฐฯเอง ผู้นำอียูจะต้านแทนแรงกดดันของประชาชนไปได้อีกสักกี่น้ำ เมื่อคลื่นแห่งความโกรธแค้นกำลังปะทุลามกว้างขวางมากขี้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน!!!