ประคองฝ่าวิกฤต!? รัฐบาลยืนตามเป้า กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ๐.๒๕% แม้เอกชนกังวลบาทอ่อน เงินเฟ้อทะลุกรอบ

0

โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า ครม.รับทราบผลงาน กนง. ทั้งเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อที่เกินเป้า และขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ๐.๒๕% เป็น ๑% มีผลทันที ส่วนภาคเอกชนกังวลว่าหากไม่ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม จะส่งผลค่าเงินบาทอ่อนได้ต่อเนื่อง และอาจทะลุ ๓๙ บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังเฟดส่งสัญญาณขยับดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงสิ้นปี

วันที่ ๒๘ ก.ย.๒๕๖๕ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ.๒๕๒๕ (๑ มกราคม- ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี ๒๕๖๕ โดย ครม. เคยมีมติอนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง% ๑-๓% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงิน และ กนง.เคยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ไตรมาสที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน) ปี ๒๕๖๕ ถึงไตรมาสที่ ๑(มกราคม-มีนาคม) ปี ๒๕๖๖ จะอยู่ที่ ๔.๑% ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

2.เรื่องการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ ๑ ปี ๒๕๖๕ ขยายตัวร้อยละ ๒.๒ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๕ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดบริการเป็นสำคัญ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคบริการฟื้นตัว 

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาคการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี ๒๕๖๕ เฉพาะในหมวดบริการและจากภาคท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านตลาดแรงงานมีสัญญาณดีขึ้น โดยจำนวนผู้ว่างงานปรับลดลงเข้าใกล้ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-๑๙

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๕ เฉลี่ยอยู่ที่ ๕.๖% สูงกว่ากรอบเป้าหมาย โดยเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครน ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี ๒๕๖๕ คาดว่าจะอยู่ที่ ๖.๒% และมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี จากราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี ๒๕๖๖ ที่ ๒.๕%

ส่วนเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๕ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเปราะบางในบางจุด โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและบางภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์ยังกระจายสภาพคล่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังคงเข้มแข็ง โดยสะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และสถาบันการเงินไทยในภาพรวม มีสภาพคล่องและมีฐานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะวิกฤตได้

3.การดำเนินนโยบายการเงิน โดย กนง. ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ๐.๒๕%  เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เห็นควรผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง 

เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้มีการป้องกันความเสี่ยงจากความผัวผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เห็นควรให้มีมาตรการเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่ม ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาวของลูกหนี้ และประการสุดท้ายคือ การสื่อสารแนวนโยบายการเงินในประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินด้วย

ภาคเอกชน โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า  การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้คงต้องติดตามว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะขยับอีก ๐.๒๕% ต่อปีไปอยู่ที่ระดับ ๑% ต่อปีจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยหากยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลยจะยิ่งทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าต่อเนื่องได้และจะกดดันให้ไทยเกิดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น

เขากล่าวว่า “ค่าเงินบาทของไทยมีโอกาสหลุด ๓๘ บาทต่อเหรียญสหรัฐตามทิศทางการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ล่าสุดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ๐.๗๕% และจะขึ้นดอกเบี้ยอีกไปสู่ระดับ ๔.๔% ในสิ้นปีนี้ซึ่งก็จะทำให้ค่าเงินทุกสกุลอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทของไทยที่หากไม่ทำอะไรต่อไปก็จะหลุด ๓๙ บาทต่อเหรียญฯและอ่อนไปเรื่อยๆเช่นกัน ดังนั้นคงต้องดูว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ย ๐.๒๕% หรือ ๐.๕๐% ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะทยอยขึ้นมากกว่า”

ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นมีทั้งปัจจัยบวกและลบจำเป็นต้องวางสมดุล กล่าวคือจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ในมุมกลับกันการนำเข้าจะสูงขึ้นทั้งในแง่วัตถุดิบ เครื่องจักร และที่สำคัญคือ พลังงาน ที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบถึงวันละประมาณ ๙ แสนบาร์เรล ยังไม่รวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) อีกเหล่านี้ทำให้ไทยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นสะท้อนจากการส่งออกล่าสุด ๘ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ (ม.ค.-ส.ค.)  มีมูลค่า ๑๙๖,๔๔๖.๘ ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ๑๑ % การนำเข้า มีมูลค่า ๒๑๐,๕๗๘.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ๒๑.๔% ส่งผลให้ไทยขาดดุล ๑๔,๑๓๑.๗ ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งการขาดดุลฯเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าพลังงาน

“เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มยังสูงเพราะเมื่อบาทอ่อนค่าก็จะไปดันให้การนำเข้าพลังงานของไทยสูงขึ้น เมื่อค่าพลังงานสูง สินค้าต่อเนื่องจากน้ำมันรวมถึงขนส่งก็แพงตาม และแน่นอนว่าจะตามมาซึ่งดอกเบี้ยที่สูงอีกในการซ้ำเติมต้นทุนทางการเงิน ยิ่งการผลิตที่เน้นตลาดในประเทศยิ่งกระทบและที่สุดก็ต้องขึ้นราคาสินค้า ค่าครองชีพประชาชนก็จะสูงตามในที่สุด ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของเราจึงค่อยๆทำเพื่อประคองเศรษฐกิจได้เพราะบริบทเงินเฟ้อของเราต่างกับสหรัฐฯ”นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับการส่งออกของไทยในเดือนส.ค.๒๕๖๕ แม้ว่าจะมีมูลค่า ๒๓,๖๓๒.๗ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ๘๖๑,๑๖๙ ล้านบาท ขยายตัว ๗.๕% จะพบว่าอัตราการเติบโตเริ่มลดต่ำกว่า ๑๐%  ถือเป็นการย่อตัวซึ่งสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มถดถอยเช่นกัน อย่างไรก็ตามในช่วง ๔ เดือนที่เหลือการเติบโตก็คงจะไม่ได้ร้อนแรงนักทำให้ภาพรวมการส่งออกปี ๒๕๖๕ คาดว่าจะอยู่ในระดับ ๘% ซึ่งก็คงจะต้องติดตามใกล้ชิด