แม้สงครามโควิด-19ยังไม่จบ แต่เชื่อว่าอย่างน้อยยอดที่พบผู้ติดเชื้อลดลงมาเรื่อยๆรายวันนั้น คงทำให้คนไทยใจชื้นขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แนวโน้มของเราก็จะดี เมื่อถึงวันนั้นประเทศไทยก็ชนะ เพราะพวกเราที่ได้ร่วมมือกัน
ล่าสุดวันนี้(12 เม.ย.63) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 33 ราย ป่วยสะสม 2,551 ราย ใน 68 จังหวัด หายป่วยสะสม 1,218 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,295 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 38 ราย ซึ่งวันนี้ตัวเลขยังคงอยู่ที่2หลักและกลับไปที่เลขสามอีกครั้ง
11 เม.ย. 63 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 45 ราย ยอดสะสม 2,518 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมเสียชีวิต 35 ราย หายแล้วรวม 1,135 ราย ลดลงจากเมื่อวาน(10เม.ย.63) แต่เคยลงไปต่ำกว่านี้คือ 38 ราย ซึ่งคนไทยยังต้องช่วยกัน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วย(โควิด-19) รายใหม่ 45 คน พบที่กรุงเทพฯ 17 ราย , สงขลา 8 ราย, ปัตตานี 7 ราย , ภูเก็ต 6 ราย และ ปทุมธานี 3 ราย เปรียบเทียบพื้นที่พบต่างจังหวัดจะเยอะกว่ากรุงเทพฯ (รวม 24ราย) เกิดขึ้นมาจากคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งสิ้น จะเห็นชัดว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่กรุงเทพฯ จากสูงสุดวันที่ 29 มี.ค. ค่อยๆ เลื่อนลงมา จากหลักร้อยเหลือหลักสิบ ส่วนต่างจังหวัดต้องบวกทางด้านอื่น เช่น ประชาชนที่เดินทางจากต่างประเทศ
อีกปัจจัยสำคัญคือมาตรการเคอร์ฟิวพบคนออกนอกเคหะสถาน 1,065 คน ลดลง 87 คน ส่วนชุมนุมมั่วสุม 109 ราย เพิ่ม 14 ราย จึงอยากจะเห็นความร่วมมือมากกว่านี้ รวมทั้งการจัดสรรหน้ากากอนามัย พบจำนวนรับเข้า 14.42 ล้านชิ้น อยู่ระหว่างจัดส่ง 2.88 ล้านชิ้น กระจายไปแล้ว 11.53 ล้านชิ้น ให้โรงพยาบาล 1.7 ล้านชิ้น ส่วนหน้ากาก N95 จำนวน 2.03 ล้านชิ้น กระจายตามกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
โฆษก ศบค. เผยถึงสาเหตุระยะหลังพบผู้ป่วย(โควิด-19) ยืนยันน้อยว่า เมื่อตรวจเจอผู้ติดเชื้อน้อย ถือเป็นเรื่องธรรมดา การตรวจมากหรือน้อยไม่เกี่ยวกับประสิทธิผลในการดูแล การตรวจ PCR เป็นที่รับรองทั่วโลก และวิธีมาตรฐานเพื่อหาเชื้อโดยตรง ตรวจได้โดยเร็วที่สุด 3 ชั่วโมง จะรู้ผลเร็วกว่าเพราะเชื้อสะสมที่คอ แต่ Rapid Test ต้องตรวจภูมิคุ้มกันจากเลือด โดยต้องติดเชื้อระยะหนึ่งจนสร้างภูมิคุ้มกัน ห่างกันถึง 7 วัน ระหว่างนั้นก็เกิดการแพร่เชื้อมากขึ้น
“หน้าที่ของผมบางเรื่องเชื่อมโยงไปในส่วนต่างๆ แต่ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาโยงไปเรื่องการเมือง ตอนนี้เรามีศัตรูร่วมกันคือโควิด-19 ต้องอยู่กับเราไปอีกหลายเดือน ดังนั้นต้องทำให้ตัวเลขผู้ป่วยเป็นศูนย์เร็วที่สุด ประเทศไทยต้องละทิ้งความขัดแย้ง ต่อสู้กับโควิด-19 และต้องการความร่วมแรงร่วมใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อสู้กับโควิด-19 และทำให้ทั่วโลกได้เห็น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ย้อนไป 10 เมษายน 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 50 ราย กทม.มากสุด 19 ยอดสะสม 0473 ตายเพิ่ม 1 สะสม 33 ศพ รักษาหาย 1013
ดังนั้น3วันคือ 10-12 เม.ย.63 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ของไทยในลักษณะที่ผู้ติดเชื้อรายวันลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่ง ทั้งยอดสะสมรวม และความเปลี่ยนของสถานการณ์ในกทม.ที่ต้องถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่พบคนป่วยรายวันน้อยลงเรื่อยๆ ขณะยอดต่างจังหวัดแม้กระจายไปเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่สาเหตุหลักคือ ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ นั่นความหมายว่า ไม่ได้ติดกันเองภายในจังหวัด นั่นช่วยตอกย้ำว่า ประชาชนช่วยกันจริง รวมทั้งความร่วมมือในมาตรการต่างๆที่รัฐออกมาบังคับขอความร่วมมือ(เราต้องชนะ โควิด-19)
อย่างไรก็ตามแม้ยังไม่สามารถประกาศชัยชนะเหนือไวรัสโรคโควิด-19 ได้ในเร็ววันนี้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า หากคนไทยยังรักษาระเบียบวินัยกฏกติกาด้วยกันเช่นนี้ เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ อย่างที่เมื่อวันที่ 16 มี.ค.63 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด -19 ตั้งแต่เตือนธันวาคมปี 2562 จนถึงวันนี้ 16 มีนาคม 2563 มีการระบาดไปแล้ว 154 ประเทศ มีจำนวนผู้ป่วยรวม 167,543 รายทั่วโลก และประเทศไทยจนถึงวันนี้ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 146 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 38 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถชะลอการแพร่กระจายของโรคได้ดี ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และความร่วมมือของทุกฝ่าย
รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจทำงาน ในการคัดกรองผู้ป่วยตามมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ มีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และเวชภัณฑ์ทั่วประเทศ อย่างเพียงพอ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ และสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถือว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คือหัวใจสำคัญในการควบคุมการระบาดโควิด-19 และรักษาโรค
“ประเทศไทยจะชนะการต่อสู้กับไวรัส (โควิด-19) นี้ก็ด้วยความร่วมมือของประชาชน การระบาดของโรคนี้ยังคงดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง รู้ว่าพวกเราทุกคนต้องลำบาก ต้องเจ็บปวด แต่เราต้องอดทนร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ขอขอบคุณผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายและประชาชนทุกคน ประเทศไทยต้องชนะ” นี่คือคำประกาศของผู้นำรัฐบาล แต่ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของคนไทย คำว่า ชนะ จึงมาจากพวกเราคนไทยทุกคนที่ยังต้องสู้กันต่อไปด้วยความไม่ประมาท !?!