เมกา-ยุโรปล่มจม!? จีน-อินเดีย-รัสเซียเหนือชั้น รอดศก.โหม่งโลกเน้นพึ่งตนเอง ดันโลกหลายขั้วผงาด

0

วันที่มหาอำนาจเดี่ยวสหรัฐและบริวารตะวันตกกำลังเผชิญกับวิกฤตที่ตนเองก่อขึ้นเพื่อหวังทำลายคู่แข่งรัสเซียและจีน ทั้งการเมือง การทหารและด้านเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส ขณะที่ฝ่ายท้าชิงการสร้างระเบียบโลกใหม่ที่ดูแลโดยอำนาจหลายขั้วกำลังเติบโตและแข็งแกร่งขี้นทุกขณะ

จีน-รัสเซียและอินเดีย เป็น ๓ เสาหลักทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้โลกหลายขั้วอำนาจเป็นรูปเป็นร่างจริงได้ วันนี้ยังยืนหยัดทางเศรษฐกิจไม่ล่มสลายตามวาระวอชิงตันที่เอาตัวรอดโดยผลักเงินเฟ้อพุ่งไปทุกหย่อมหญ้า แก้ปัญหาตัวเองโดยทำลายประเทศอื่น แม้ว่าหลายฝ่ายยังมีข้อสงสัยว่า อินเดียน่าจะเหยียบเรือสองแคม ขาหนึ่งอยู่ฝั่งสหรัฐแต่อีกขาหนึ่งก็สานประโยชน์กับรัสเซียและจีน เรื่องนี้เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

วันที่ ๒๔ ก.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวโกลบัลไทมส์และสปุ๊ตนิกรายงานว่า  หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรมว.ต่างประเทศของจีน และสุพราห์มานยัม ชัยจังการ์ รมว.ต่างประเทศของอินเดีย ต่างก็เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศ BRICS นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้จัดการเจรจาแบบตัวต่อตัว แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติอย่างแท้จริง แต่แนวโน้มเชิงบวกบางประการก็เกิดขึ้น การพัฒนาที่สำคัญคือ กองทหารจีนและอินเดียเริ่มปลดประจำการในพื้นที่จิอานัน ดาบัน (Jianan Daban)เชิงเขาหิมาลัย เมื่อวันที่๘ ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาทางทหารหลายรอบ ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งในทิศทางทั่วไปของความมั่นคงชายแดนที่พัฒนาขึ้น

รมว.ต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนจะกลับมาเป็นปกติ นั่นคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก” เขายังกล่าวอีกว่าการหาวิธีที่จะอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของอินเดียและจีน เนื่องจากแนวความคิดทั้งหมดเกี่ยวกับการมีบทบาทเพิ่มขึ้นของเอเชียนั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของทวีปที่สามารถเข้ากันได้ และสอดคล้องกับจุดยืนของจีน ทำให้ทั้งสองประเทศสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปได้ 

 

ด้านหวัง ยี่ได้มีโอกาสพบเอกอัครราชทูตอินเดียคนใหม่ประจำประเทศจีน ปราทีป กูมาร์ ราวัต (Pradeep Kumar Rawat) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หวังย้ำว่าผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและอินเดียมีมากกว่าความแตกต่าง และทั้งสองฝ่ายควรคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของความสัมพันธ์ทวิภาคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ประสบความสำเร็จแทนที่จะมาขัดขากันเอง

จีนเตรียมเสบียงพร้อมเผชิญวิกฤต โดยนำวิถีทางของจีนฝ่าอุปสรรคทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง สิ่งไหนดีสำหรับประชาชนจะทำ ไม่เดินตามวิถีของตะวันตก ไม่กี่วันที่ผ่านมา ปธน.สี จิ้นผิงเพิ่ประกาศยืนยันว่า จะรวมไต้หวันด้วยสันติวิธี ไม่ยอมตกหลุมพลางยุให้ใช้ความรุนแรงของสหรัฐแน่

ปธน.สี จิ้นผิงและกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ส่งคำเรียกร้องไปยังกองทัพปล่ดปล่อยประชาชนจีนหรือ PLA ให้เตรียมพร้อมกับสงครามอย่างกล้าหาญ สิ่งไหนไม่เป็นผลดีเลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยง สิ่งไหนต้องเผชิญหน้าก็ต้องกล้าหาญรับมือ

การเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่ถูกใจวอชิงตันมาก แต่ความพยายามดึงรั้งอินเดียให้ออกห่างจากจีนและรัสเซียของสหรัฐไม่ค่อยเป็นผล ล่าสุด นิวเดลีกล่าวท่ามกลางการเจรจาเชิงลึกกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับรัสเซียว่า “อินเดียไม่ใช่ประเทศที่ใครจะสามารถกดดันได้’

นิวเดลีปฏิเสธที่จะร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย และเป็นพันธมิตรด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศที่อินเดียใฝ่ฝันเป็นหนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอวกาศเท่าเทียมกับสหรัฐ รัสเซียและจีน

อรินธรรม บักจี(Arindam Bagchi) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่าอินเดียไม่ใช่ประเทศที่ใครจะกดดันได้ เมื่อวอชิงตันเรียกร้องให้นิวเดลีเลิกพึ่งพาอาวุธและพลังงานของรัสเซีย

บักชีกล่าวย้ำว่า “ฉันคิดว่าจุดยืนของอินเดียเกิดจากความเชื่อของเราเองและความสนใจของเราในสิ่งที่เราต้องทำซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประเทศและประชาชนอินเดีย” 

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี และปธน.รัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน หารือเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหารของโลก ความมั่นคงด้านพลังงาน และความพร้อมของปุ๋ยในบริบทของความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์ทางภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบัน” นอกรอบการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในเมืองซามาร์คันด์ เมื่อต้นเดือนนี้ ผู้นำทั้งสองชื่นชม “แรงผลักดันที่ยั่งยืนในความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งรวมถึงการติดต่อในระดับต่างๆ” และให้คำมั่นยกระดับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นายวิเนย์ โมฮัน ควาตรา รมช.ต่างประเทศอินเดียให้คำมั่นว่าจะดำเนินการซื้อน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซียต่อไป โดยเน้นว่า “อินเดียไม่ใช่สมาชิกของ จี-๗ และจะไม่กำหนดเพดานราคาสูงสุดสำหรับแหล่งพลังงานของรัสเซียตามข้อเรียกร้องของตะวันตกด้วย”

ทั้งจีน-อินเดีย-รัสเซียต่างยึดนโยบายความเป็นตัวของตัวเอง ในด้านเศรษฐกิจเดินหน้าร่วมมือกัน เมินและไม่หวั่นสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกลงโทษ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง เทดอลลาร์ใช้เงินท้องถิ่นแลกเปลี่ยนค้าขายทำให้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน้อยกว่าประเทศอื่นๆที่ผูกตะกร้ากับดอลลาร์สหรัฐอย่างสมบูรณ์  ในกรณีของรัสเซียยิ่งพิสูจน์ชัดเจน เมื่อถูกสหรัฐและตะวันตกขับออกจากระบบการเงินโลกตะวันตกกลับทำให้รัสเซียร่ำรวย แข็งแกร่งปลอดภัยไม่ถูกทำลายตามที่สหรัฐต้องการ!!