งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๙ ซึ่งจัดขึ้นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ ก.ย.ที่ผ่านมา มีประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยเข้าร่วมอย่างคึกคัก ด้านกัมพูชาซึ่งเป็นประธานอาเซียนได้กล่าวสรุปความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนทางด้านเศรษฐกิจเป็นไปอย่างประสบความสำเร็จ และจับต้องได้

วันที่ ๒๑ ก.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บรรยากาศงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๙ ซึ่งจัดขึ้นที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน มีผู้คนแวะเวียนมาเดินเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าหลากหลายประเภทกันอย่างคึกคักในวันสุดท้ายที่เปิดต้อนรับสาธารณชน
สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-อาเซียน ประสบความสำเร็จมากมาย นับตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบด้านอาเซียน-จีน เมื่อปี ๒๕๔๕/๒๐๐๒ รวมถึงข้อตกลงการค้าและการลงทุนเสรีฉบับอื่นๆ
ฮุนเซนกล่าวระหว่างเข้าร่วมการเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๙ ผ่านระบบออนไลน์ว่าทั้งสองฝ่ายประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนรุ่น ๑.๐ และรุ่น ๒.๐ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และกัมพูชาสนับสนุนการยกระดับความตกลงนี้สู่รุ่น ๓.๐

ผู้นำกัมพูชาเรียกร้องจีนและอาเซียนเพิ่มความสำคัญของการขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
ฮุนเซนเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีนี้ จะไม่เพียงเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนแก่กลุ่มประเทศในภูมิภาค แต่ยังมีส่วนส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย
นอกจากนั้น ฮุนเซนระบุว่าการดำเนินงานตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคจะกลายเป็นกรอบการทำงานหลักสำหรับการสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน รุ่น ๓.๐ ในอนาคต ขณะเดียวกันเขาขอบคุณรัฐบาลจีนที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนมาโดยตลอด
ฮุนเซนระบุว่ากัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนประจำปี ๒๕๖๕/๒๐๒๒ จะยังคงพยายามเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป เพื่อรับรองความยั่งยืน ความครอบคลุม และความยืดหยุ่นของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองภูมิภาค
ด้านประเทศไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงานและการประชุมสุดยอดทางธุรกิจและการลงทุนจีน-อาเซียน ผ่านระบบวิดีโอ ได้กล่าวสนับสนุนการบ่มเพาะความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-อาเซียน เพื่อเอาชนะความท้าทายและสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
ปีนี้นับเป็นปีแรกของความเป็นหุ้นส่วนฯ และเป็นปีที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยงานมหกรรมฯ ปีนี้มีหัวข้อ “การแบ่งปันโอกาสใหม่ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน 3.0” (Sharing RCEP New Opportunities, Building a Version ๓.๐ China-ASEAN Free Trade Area) ซึ่งมุ่งสำรวจโอกาสใหม่และกระชับความเป็นหุ้นส่วนฯ ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นอันเป็นความคาดหวังร่วมกันของจีนและอาเซียน

ดอนกล่าวว่าจีนและอาเซียนมุ่งมั่นสานต่อผลสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมา เพื่อก้าวสู่อนาคตข้างหน้าร่วมกัน โดยจีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ สามารถมีบทบาทสำคัญเชิงสร้างสรรค์ในการพัฒนาของภูมิภาค ขณะความเป็นหุ้นส่วนฯ ที่เข้มแข็งจะสร้างสภาพแวดล้อมอันเกื้อหนุนการฟื้นฟูและความยืดหยุ่นแก่เศรษฐกิจในระยะยาว
จีนและอาเซียนถือเป็นฐานการผลิตแห่งสำคัญของโลก มีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่มหึมา การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค โดยจีนจัดเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนติดต่อกัน 13 ปีแล้ว และอาเซียนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและความสลับซับซ้อน ปรากฏสารพัดความเสี่ยงทั้งความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมือง การพุ่งทะยานของอัตราเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การบังคับใช้ความตกลงฯ จะสร้างโอกาสใหม่ของความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและอาเซียน
ดอนกล่าวว่าผู้ประกอบการของไทยและจีนต่างได้รับประโยชน์นับตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ โดยผู้ส่งออกของไทยจำนวนมากได้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าการเกษตรและอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า ๒๐๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๗.๕ พันล้านบาท) ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมา จึงหวังว่าความตกลงฯ จะส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของภูมิภาค

ดอนทิ้งท้ายเรียกร้องประเทศต่างๆ สนับสนุนการยกระดับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน สนับสนุนการบังคับใช้ความตกลงฯ อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เร่งรัดการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุน ขยับขยายตลาด และกระชับห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงส่งเสริมธุรกิจรูปแบบใหม่ สร้างสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ดำเนินการวิจัย พัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียว และพลังงานสะอาด เพื่อเดินหน้าการพัฒนาระดับภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น