ความฝันของรัฐบาลลุงตู่ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นฮับขนส่งภูมิภาค ประสบผลสำเร็จเห็นเค้าลางว่าจะบรรลุเป้าหมาย เพราะรัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนขนส่งระบบรางต่อเนื่องตลอด ๘ ปี สามารถยกระดับการเดินทางและเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งไทยอย่างเป็นระบบ เตรียมเปิดให้บริการอีก ๕ เส้นทางภายในปี ๒๕๖๕ นี้
ภายใต้นโบายที่ก้าวหน้านี้ประเทศไทยได้ปักหมุดสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของขนส่งโลจิสติกส์อย่างก้าวกระโดด ด้านภาคเอกชนโดยบีทีเอสกรุ๊ปได้ช่วงชิงโอกาสจับมือยักษ์มาเลเซียพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมต่อมาเลเซีย-สิงคโปร์ เพื่อนบ้านไทย เท่ากับสร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบรางพัฒนาเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศด้วยฝีมือของบริษัทฯคนไทยอีกก้าวหนึ่ง
วันที่ ๑๙ ก.ย.๒๕๖๕ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ และนายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MATCH พร้อมคณะผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้าพบ Dato’ Avinderjit Singh A/L Harjit Singh และ Dato’ Siew Ka Wei ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมไปถึงติดตามศึกษาโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transport System) ที่จะเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง (RTS Link) ข้ามพรมแดนจากประเทศสิงคโปร์มายังเมือง Johor Bahru ในสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างดำเนินโครงการ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบระบบขนส่งมวลชนภายใต้แนวคิด Transit-Oriented Development ที่เมือง Johor Bahru สหพันธรัฐมาเลเซีย
สำหรับการร่วมลงทุนโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transport System) ที่จะเชื่อมต่อกับ โครงการ ระบบรถไฟความเร็วสูง (RTS Link) ข้ามพรมแดนจากประเทศสิงคโปร์มายังเมือง Johor Bahru ในสหพันธรัฐมาเลเซีย ภายใต้แนวคิด Transit-Oriented Development ที่เมือง Johor Bahru สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นโครงการฯ ที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าทำข้อตกลง (Heads of Agreement) ร่วมกับSinar Bina Infra Sdn. Bhd., Ancom Berhad, Nylex (Malaysia) Berhad และ LBS Bina Group Berhad เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ Move ที่ทางบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ผ่านโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นครอบคลุม ระยะทางรวม 135 กม. รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังพัฒนา อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และเรามุ่งหวังจะเป็นผู้ให้บริการแบบ door-to-door แก่ผู้โดยสารด้วยรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางราง ทางถนน ทางน้ำหรือทางอากาศเพื่อตอบโจทย์การเดินทางตั้งแต่ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้ายของผู้โดยสาร สร้างการให้บริการการเดินทางอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในพื้นที่ประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเชื่อว่าโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสารสิงคโปร์ และมาเลเซียได้เป็นอย่างดี ตรงตามเป้าหมายของธุรกิจ Move ที่มุ่งเน้นการให้บริการที่สะดวก และปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้โดยสารที่ต้องการข้ามพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศ
สำหรับภาครัฐได้เปิดเผยผลงานการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเพื่อการคมนาคมขนส่งประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลเร่งพัฒนาขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศ ตามนโยบายเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับการเดินทางให้สะดวกรวดเร็ว และแก้ปัญหาการจราจรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ โครงข่ายรถไฟทางไกลรองรับการขนส่งจากถนนสู่ระบบราง และจากทางเดี่ยวสู่ทางคู่ ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทาง 985 กิโลเมตร มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี ประกอบด้วย เส้นทางที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา – ชุมทางคลองสิบเก้า – ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2562 และ 2) ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2563 และอีก 5 เส้นทางที่คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2565 นี้
ทั้งนี้ ๕ เส้นทาง ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและเตรียมเปิดให้บริการได้แก่ ๑) ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง ๑๕๖ กิโลเมตร ๒) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร ๓) ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง ๑๖๙ กิโลเมตร ๔) ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางรวม ๗๖ กิโลเมตร และ ๕) ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทางรวม ๑๖๗ กิโลเมตร โดยเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว จะสามารถเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ในการเดินทาง รวมถึงการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมพื้นฐานด้านอื่น ๆ ของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา กล่าวย้ำว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามนโยบายรัฐบาลนี้ ถือเป็นการยกระดับการเดินทางที่สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสต์ติก เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างชัดเจน อาทิเช่น การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังสถานีหัวหิน จากเดิมใช้เวลาเดินทาง ๕ ชั่วโมง จะเหลือเพียงประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน