มาเลเซียเลือกข้าง!! เปิดหน้าแทรกแซงเมียนมาเต็มสูบ จัดประชุมหนุนฝ่ายต้าน ในงานประชุมสมัชชาUNที่นิวยอร์ก

0

การเคลื่อนไหวของมาเลเซียต่อกรณีเมียนมา เปิดหน้าชัดแอ็คชั่นตามวาระวอชิงตันอย่างต่อเนื่อง เตรียมจัดประชุมกับกลุ่มต้านเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาในช่วงการประชุม UNGA ที่นิวยอร์ก พร้อมดันอาเซียนให้เล่นบทบีบเมียนมาทิ้งปฏิญญาไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันหน้าตาเฉย

ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมา ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลมิน อ่องหล่ายจะมีแต้มต่อเพราะกองกำลังชาติพันธ์ุแตกกันชัดหันมาเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลมากขึ้น ล่าสุด กองทัพ “สหรัฐว้า” นัด ๕ กองทัพชาติพันธุ์ประชุมกันที่เมืองป๋างซาง ก่อนเตรียมเดินทางลงไปเจรจาสันติภาพรอบที่ ๒ กับ “มินอ่องหล่าย” ที่กรุงเนปีดอ ส่งผลให้ภาพของกองกำลังติดอาวุธที่มีอยู่หลายกลุ่มในพม่า เริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้นว่าฝ่ายไหนสนับสนุนสันติภาพ และฝ่ายใดที่ยืนข้าง NUG

วันที่ ๑๙ ก.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวThe Star รายงานว่าดาโต๊ะ ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รมว.กต.มาเลเซียระบุว่ามาเลเซียเตรียมจัดประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 ณ นครนิวยอร์ก ระหว่าง ๑๙-๒๖ ก.ย.๒๕๖๕ เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพกับพลเมืองเมียนมา โดยกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างผู้แทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) สภาที่ปรึกษาเอกภาพแห่งชาติ และผู้แทนถาวรของเมียนมาประจำสหประชาชาติ ใน ๑๙ ก.ย.๒๕๖๕  รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่าง ๒๐ – ๒๖ ก.ย.๒๕๖๕ 

ทั้งนี้ มาเลเซียติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างต่อเนื่องและเตรียมยื่นข้อเสนอต่ออาเซียนให้ทบทวนการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อของเมียนมา

ทางด้านสถานการณ์ภายในประเทศ กองทัพชาติพันธุ์ในพม่าเริ่มแบ่งข้างชัด กลุ่มใดหนุน “สันติภาพ” กลุ่มใดเลือกฝ่ายยืนข้าง NUG

เมื่อวันที่ ๑๖ ก.ย.ที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นประธาน เชิญตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ๕ กลุ่ม ประกอบด้วย กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ กองทัพเมืองลา (NDAA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ไปประชุมกันที่เมือง “ป๋างซาง” หรือ “ปางคำ” เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองสหรัฐว้า ชายแดนรัฐชาน-จีน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสื่อใดในพม่าที่ได้รายงานรายละเอียดว่าหัวข้อ หรือประเด็นที่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทั้ง ๖ กลุ่มได้พูดคุยกันนั้นมีเรื่องใดบ้าง

สำนักข่าว Shan News และเพจภาษาไทใหญ่อีกบางแห่ง รายงานข่าวตรงกันว่า การประชุมครั้งนี้เริ่มจากกองทัพสหรัฐว้า ได้นัดตัวแทนกองทัพรัฐชานเหนือ กับกองทัพเมืองลา มาพูดคุยเพื่อสรุปประเด็นเบื้องต้นที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ก่อนที่ทั้ง ๓ กองทัพจะส่งตัวแทนเดินทางลงไปเจรจาสันติภาพรอบ ๒ กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรี พม่า

แต่ต่อมาได้มีการขยายวง โดยเชิญตัวแทนของกองทัพโกก้าง กองทัพตะอั้ง และกองทัพอาระกัน ให้มาร่วมประชุมด้วย โดยที่ทั้ง ๓ กองทัพที่ถูกเชิญมาประชุมเพิ่มนั้นต่างกำลังมีการสู้รบอยู่กับกองทัพพม่า

๖ กองทัพชาติพันธ์ที่ไปประชุมกันที่เมืองป๋างซาง ล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า FPNCC หรือ Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า โดยมีกองทัพสหรัฐว้าเป็นแกนน

สมาชิก FPNCC มีทั้งหมด ๗ กลุ่ม นอกจาก ๖ กลุ่มที่ไปประชุมกันที่ป๋างซางแล้ว ยังมีกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) อีก ๑ กลุ่ม แต่กองทัพเอกราชคะฉิ่นไม่มีตัวแทนไปร่วมประชุมด้วย

หลังการรัฐประหารของกองทัพพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กองทัพเอกราชคะฉิ่นได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่ายืนอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านที่จัดตั้งขึ้นโดยอดีตสมาชิกพรรค NLD และยังเป็นกองทัพที่ช่วยฝึกอาวุธให้ชาวพม่าที่ได้รวมตัวกันเป็นกองกำลังติดอาวุธ (PDF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเพื่อใช้ต่อสู้กับกองทัพพม่า

ขณะที่กองทัพสหรัฐว้า กองทัพเมืองลา และกองทัพรัฐชานเหนือ เป็น ๓ ใน ๑๐ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ตอบรับคำเชิญเจรจาสันติภาพจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ และได้ส่งตัวแทนลงไปพบและเจรจารอบแรกกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่กรุงเนปีดอแล้ว โดยกองทัพสหรัฐว้าได้ไปเจรจาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม กองทัพเมืองลา ในวันที่ ๔ มิถุนายน และกองทัพรัฐชานเหนือ ในวันที่ ๔ สิงหาคม

ส่วนอีก ๗ กองกำลังที่ตอบรับคำเชิญ เป็นกองทัพที่เซ็น NCA กับรัฐบาลพม้าไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และ ๒๕๖๑ ได้แก่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐชานใต้ พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

๗ กลุ่มนี้ได้ส่งตัวแทนไปการเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่ายรอบแรกระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนกรกฎาคม และตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มี ๖ กลุ่มที่ส่งตัวแทนมาเจรจารอบสองแล้ว ได้แก่ องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ พรรคปลดปล่อยอาระกัน สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ กองทัพรัฐฉานใต้ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย และสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ