จากกรณีที่สหรัฐฯออกมาท้าทายจีนมากขึ้น โดยเพิ่มระดับความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน และยังเดินหน้าส่งอาวุธให้ไต้หวัน เป็นการดันให้ไทเปเข้าใกล้สงครามได้อย่างมากขึ้น ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งออกอากาศในวันอาทิตย์ ที่ 18ก.ย. ที่ผ่านมา ประกาศกร้าวกองกำลังสหรัฐฯจะปกป้องไต้หวัน ในกรณีที่จีนเปิดฉากรุกราน ถ้อยแถลงชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมาของผู้นำรายนี้ในประเด็นดังกล่าว
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการ ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ไบเดนถูกถามว่ากองกำลังสหรัฐฯจะปกป้องเกาะปกครองตนเองที่จีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนหรือไม่ เขาตอบว่า “ใช่ ถ้าในความเป็นจริง มีการโจมตีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
พอถูกถามเพิ่มเติมขอความกระจ่างชัด หมายความว่าสิ่งนี้ต่างจากยูเครน โดยกองกำลังสหรัฐฯทั้งชายและหญิง จะปกป้องไต้หวันในกรณีที่ถูกจีนรุกราน ใช่หรือไม่ เขาตอบว่า “ใช่”
คำสัมภาษณ์นี้ถือเป็นหนล่าสุดที่เหมือนว่า ไบเดน จะพูดเกินเลยขอบเขตนโยบายที่สหรัฐฯยึดถือมาช้านานเกี่ยวกับไต้หวัน แต่ขณะเดียวกันคำพูดนี้ก็ถือเป็นถ้อยแถลงที่ชัดเจนกว่าครั้งก่อน ๆ เกี่ยวกับพันธสัญญาของทหารสหรัฐฯในการปกป้องเกาะแห่งนี้
เมื่อสอบถามความคิดเห็นในเรื่องนี้ไปยังทำเนียบขาว ทางโฆษกทำเนียบขาวรายหนึ่งเน้นย้ำว่านโยบายของสหรัฐฯที่มีต่อไต้หวันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง “ก็อย่างที่ท่านประธานาธิบดีเคยพูดในเรื่องนี้มาก่อน ในกรุงโตเกียวเมื่อช่วงกลางปี ท่านอธิบายอย่างชัดเจนในตอนนั้นว่า นโยบายไต้หวันของเราไม่เปลี่ยนแปลง และนั้นยังคงเป็นความจริง”
บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นการบันทึกเทปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเวลานี้ประธานาธิบดีไบเดน อยู่ในสหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันจันทร์ ที่ 19 ก.ย.
ที่ผ่านมาสหรัฐฯยึดถือนโยบายหนึ่งมาช้านาน ด้วยการทำให้เป็นเรื่องคลุมเครือ ว่าพวกเขาจะตอบโต้ทางทหารต่อกรณีมีเหตุโจมตีไต้หวันหรือไม่
ในเดือนพฤษภาคม ไบเดน ถูกถามว่าเขาตั้งใจมีส่วนเกี่ยวข้องทางทหารในการปกป้องไต้หวันหรือไม่ เขาตอบว่า “ใช่ นั่นเป็นพันธสัญญาที่เราเคยรับปากไว้” แต่ในเวลาต่อมา ไบเดน ยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังคงยึดหลัก “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ในไต้หวันเหมือนเดิม
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการ ไบเดนเน้นย้ำว่าสหรัฐฯไม่ได้สนับสนุนไต้หวันประกาศเอกราช และยังคงให้คำมั่นสัญญาในนโยบายจีนเดียว ซึ่งวอชิงตันรับรองปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ไต้หวัน