คลังยอมสูญรายได้นับแสนล้านบาท จากมาตรการลดภาษี ตั้งเป้าดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ จ่อชงครม.๑๓ กันยายนนี้ ขยายเวลามาตรการลดภาษีลิตรละ 5 บาท ยาวถึงสิ้นปี ๒๕๖๕ ด้านสรรพสามิตดึงเทคโนโลยีจับการลักลอบขนน้ำมันเขียว เหตุยกเว้นภาษีเพื่อช่วยเหลือเรือประมง สำหรับค่าไฟฟ้าพิจารณาอุ้มค่าเอฟทีเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน
แม้ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวลดลงจากครึ่งปีแรกที่สูงกว่าระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากผลกระทบความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยและเงินเฟ้อสูง แต่ราคาน้ำมันยังได้รับแรงสนับสนุนจาก ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในรัสเซีย และราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น หนุนความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป หรือน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น
ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปคาดว่า จะอ่อนตัวลงไปเช่นกัน จากก่อนหน้านี้ราคาปรับตัวขึ้นไปพอสมควรแล้ว อีกทั้งความต้องการใช้น้ำมันก็ไม่ได้ลดลงไป เพราะจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว
วันที่ ๑๒ ก.ย. ๒๕๖๕ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน โดยมีมติเห็นชอบขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม-๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ โดยให้คงสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ ๕%(B5)และขอความร่วมผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล ไม่เกิน ๑.๔๐ บาทต่อลิตร
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้หารือถึงการขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน ออกไปจนถึงสิ้นปี จากปัจจุบันที่มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลง ๕ บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๐ กันยายนนี้ ซึ่งคาดว่า จะมีการนำเสนอในที่ประชุม ครม. อังคารที่ ๑๓ กันยายนนี้
ทั้งนี้ผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดปรับขึ้นสูงต่อเนื่องจนเกิน ๑๐๐ ดอลลาร์ต่อบาเรล ขณะเดียวกันกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงได้เข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน ๓๐-๓๕ บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมันขาดสภาพคล่องติดลบกว่า ๑.๒ แสนล้านบาท
กระทรวงการคลังจึงได้ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง ซึ่งจนถึงปัจจุบันรวม ๓ ครั้ง โดย
-ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์-๒๐พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลดภาษีลง ๓ บาทต่อลิตร เป็นเวลา ๓ เดือน ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท
-ครั้งที่ ๒ ช่วงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม-๒๐ กรกฎาคม เป็นเวลา ๓ เดือน โดยลดภาษีดีเซลลง ๕ บาทต่อลิตร รัฐสูญรายได้ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท
-ครั้งที่ ๓ เป็นการขยายอายุมาตรการออกไปจนถึงวันที่ ๒๐กันยายนนี้ ในอัตราลดภาษีเดิมที่ ๕ บาทต่อลิตร
จากการใช้มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลงทั้ง๓ ครั้งทำให้รัฐสูญรายได้ประมาณ ๖๘,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้นหากรัฐบาลจะทำการขยายมาตรการลดภาษีดีเซลในอัตรา ๕ บาทต่อลิตรไปจนถึงสิ้นปี ๒๕๖๕ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเพิ่มอีก ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท และทำให้การดำเนินมาตรการภาษี เพื่อดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ รัฐบาลใช้เงินทั้งหมดราว ๙๘,๐๐๐ ล้านบาท
ทั้งนี้จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง ๑๐ เดือนของปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๖๔-กรกฎาคม ๒๕๖๕ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ ๒,๐๓๗,๔๕๙ ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๑๐๕,๙๐๘ ล้านบาทหรือ 5.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๕.๘%
การจัดเก็บรายได้ของกรมภาษีสำคัญพบว่า กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้จำนวน ๑,๖๗๐,๒๗๑ ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๒๐๖,๒๔๒ ล้านบาท หรือ ๑๔.๑% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ๑๕.๑% ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคและมูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงกว่าประมาณการ
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตอยู่ที่ ๔๒๘,๕๕๖ ล้านบาท โดยต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๖๘,๙๘๔ ล้านบาท หรือ ๑๓.๙% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ๖.๒% เนื่องจากมีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
การจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นรายได้อันดับหนึ่งของกรมสรรพสามิตในช่วง ๑๐ เดือนปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ได้ทั้งสิ้น ๑๔๘,๖๔๗ ล้านบาทน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๕๕,๑๓๗ ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จัดเก็บได้ ๒๐๓,๗๘๔ ล้านบาทหรือต่ำกว่าปีก่อน ๒๗.๒๖% ซึ่งเป็นผลจากการปรัยลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลดังกล่าว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบสำแดงอัตโนมัติผ่านดาวเทียม ติดตั้งที่เรือแทงก์เกอร์หรือเรือจำหน่ายน้ำมันดีเซล(น้ำมันเขียว)กลางทะเลสำหรับจำหน่ายให้เรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ซึ่งกรมสรรพสามิตได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยเหลือเรือประมงชายฝั่ง ทำให้ราคาน้ำมันเขียวถูกกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบก ประมาณ ๑๐ บาท/ลิตร
ซึ่งในแต่ละปี กรมสรรพสามิตจะสูญเสียรายได้จากเว้นภาษีดังกล่าวประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านบาทต่อปีจากน้ำมันเขียวที่ใช้ที่ประมาณ ๖๐๐ ล้านลิตรต่อปี
“ที่ผ่านมาแม้จะมีการควบคุมการจำหน่ายน้ำมันเขียวโดย ๓ หน่วยงาน คือ สรรพสามิต สรรพากรและตำรวจน้ำ แต่เนื่องจากการทำบัญชีซื้อขายจะทำโดยผู้ควบคุมเรือแทงก์เกอร์ ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วไหล เพราะกรมฯตรวจสอบพบว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันของเรือประมงที่มีใบอนุญาตให้ซื้อได้นั้น น้อยกว่าปริมาณที่เรือแทงก์เกอร์ขายได้ถึง ๒๐%-๓๐% ซึ่งส่วนต่างที่หายไป เนื่องจากขายให้เรือประมงที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำไปขายต่อบนบก”
นายเอกนิติกล่าวอีกว่า สำหรับระบบที่จะนำมาใช้ จะมีการติดตั้งที่เรือแทงก์เกอร์ โดยใช้สัญญาควบคุมดาวเทียม และส่งข้อมูลมายังศูนย์ควบคุมที่กรุงเทพ โดยศูนย์จะสามารถรู้ได้แบบเรียลไทม์ ว่ามีเรือประมงเข้าใกล้เรือแทงก์เกอร์จำนวนกี่ลำ เวลาไหน รวมถึงปริมาณน้ำมันเขียวที่ถูกถ่ายออกจากเรือแทงก์เกอร์ ซึ่งหากปริมาณผิดปกติ กรมฯ จะส่งจนท.ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษทันที
นอกจากกรมสรรพสามิต จะเข้ามาแบกรับค่าครองชีพโดยการลดภาษีน้ำมันดีเซลแล้ว ยังมีในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เข้ามาช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเพื่อไม่ให้เกิน ๓๕ บาทต่อลิตร ล่าสุดข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๕ กองทุนน้ำมันฯ มีฐานติดลบอยู่ที่ ๑๒๒,๒๑๔ ล้านบาท เป็นในส่วนการอุดหนุนน้ำมันดีเซลถึง ๘๐,๓๔๓ ล้านบาท และอุดหนุนก๊าซหุงต้ม ๔๑,๘๗๑ ล้านบาท
อีกทั้งมีในส่วนของการอุ้มค่าไฟฟ้าไม่ให้ขยับขึ้นตามต้นทุนที่เป็นจริง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาช่วยแบกรับค่าไฟฟ้าอยู่ที่ ๘๓,๐๑๐ ล้านบาท แม้จะปรับค่าเอฟทีในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๖๕ เพิ่มอีก ๖๘.๖๖ สตางค์ต่อหน่วย แล้วก็ตาม ดังนั้น จะเห็นว่าในรอบปี ๒๕๖๕ ต้องใช้เงินในการแบ่งเบาค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนราว ๓ แสนล้านบาท