หลังจากที่ราคาก๊าซในยุโรปพุ่งทะยานเกือบ 30% ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 ก.ย. โดยตัวเลขนี้อาจเทียบเป็น 400% ทีเดียวเมื่อเทียบกับราคาในปีที่แล้ว หลังจากรัสเซียประกาศว่า หนึ่งในสายท่อส่งก๊าซหลักไปยังยุโรปจะปิดชนิดไม่มีกำหนด และถือเป็นการจุดชนวนความกังวลรอบใหม่เกี่ยวกับการขาดแคลนและจะต้องมีการปันส่วนก๊าซในประเทศอียูในฤดูหนาวที่ใกล้มาถึงนี้
ล่าสุดมีรายงานว่า มอสโกจะตอบโต้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ด้วยการส่งออกอุปทานไปยังเอเซียมากขึ้น จากการเปิดเผยของนิโคไล ชูลกินอฟ รัฐมนตรีพลังงานของประเทศ ท่ามกลางข้อมูลว่ารัสเซียโกยเงินถึง 158,000 ล้านยูโร (ประมาณ 5.8 ล้านล้านบาท) จากการส่งออกพลังงานในช่วง 6 เดือนหลังเปิดฉากรุกรานยูเครน ในนั้นมากกว่าครึ่งเป็นการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ว่าอียูกำหนดข้อจำกัดนำเข้าพลังงานจากมอสโก
ความเคลื่อนไหวใด ๆ ที่กำหนดจำกัดเพดานราคา จะนำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนในตลาดของบรรดาประเทศที่ริเริ่มเอง และเพิ่มความผันผวนแก่ราคาพลังงาน บรรดารัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และแคนาดา ให้ไฟเขียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำหรับหาแนวคิดจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซีย เพื่อลดรายได้ของมอสโก ตอบโต้ปฏิบัติการรุกรานยูเครน ก่อนหน้ารัสเซียส่งทหารหลายหมื่นนายบุกเข้าไปยังยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ราวครึ่งหนึ่งของการส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซีย เป็นการส่งออกไปยังยุโรป จากข้อมูลของทบวงพลังงานสากล ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่ม G7 ได้ออกข้อจำกัดหรือระงับการซื้อปิโตรเลียมจากรัสเซีย แต่แผนกำหนดเพดานราคาน้ำมันจะได้ผลหรือไม่ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติยักษ์ใหญ่อย่างอินเดีย และจีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญที่สุดของรัสเซีย
ความเห็นของ ชูลกินอฟ มีขึ้นในขณะที่ศูนย์วิจัยด้านพลังงาน และอากาศสะอาด และได้เปิดเผยในวันอังคาร ที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่ารัสเซียโกยเงินจากการส่งออกพลังงานถึง 158,000 ล้านยูโร ในช่วง 6 เดือน ตามหลังรุกรานยูเครน โดยมากกว่าครึ่งมาจากอียู พร้อมเรียกร้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโกที่เห็นผลกว่าเดิม หลังจากปฏิบัติการรุกรานทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่ทางด้านอเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย ระบุว่าแผนของ G7 ที่ต้องการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย จะก่อความไม่แน่นอนแก่ตลาดโลก “เราควรจับตาดูว่าสถานการณ์ของตลาดจะมีวิวัฒนาการไปทางไหน เพราะว่ามีความไม่แน่นอนต่าง ๆ อย่างน้อยคือการประกาศเจตนารมณ์ของG7 ในเรื่องของการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย เราเห็นพ้องกันว่าจะเดินหน้าประชุมกันเป็นรายเดือน เพื่อเสนอทางออกที่สมเหตุสมผลที่สุดแก่ตลาด”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในยุโรป ท่ามกลางความเคลื่อนไหวบีบรัดอุปทานของรัสเซีย ราคาน้ำมันดิบก็พุ่งทะยานเช่นกัน หลังมอสโกรุกรานยูเครน แม้ว่าเวลานี้จะแกว่งตัวลงมาแล้วก็ตาม การส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยเสริมเม็ดเงินราว ๆ 43,000 ล้านยูโรเข้าสู่งบประมาณกลางของรัสเซีย นับตั้งแต่เริ่มรุกราน ช่วยเป็นทุนสนับสนุนอาชญากรรมสงครามในยูเครน”
.
ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาดประเมินว่าสหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลรัสเซียรายใหญ่ที่สุด ที่ราว ๆ 85,100 ล้านยูโร ตามมาด้วยจีน 34,900 ล้านยูโร และตุรกี 10,700 ล้านยูโร ทั้งนี้ในขณะที่อียูหยุดซื้อถ่านหินของรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พวกเขามีความก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการแบนน้ำมันรัสเซีย และไม่ได้กำหนดข้อจำกัดใด ๆ ต่อการนำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซีย ซึ่งพวกเขาต้องพึ่งพิงเป็นอย่างสูง