ดูให้จะๆ “ทิศทางไทย”แจ้งละเอียดยิบเยียวยาเงินเยียวยา5,000บาท ผู้รับผลกระทบโควิด-19ขาดประสิทธิภาพ ไร้แผนงาน
อลหม่าน คลังชดเชย 5,000 สะท้อนมาตรการที่ขาดแผนงาน ทำงานแบบราชการไร้ระบบ ซ้ำซ้อน ประชาชน-ประเทศชาติคือผู้รับเคราะห์
ดร.เวทิน ชาติกุล สถาบันทิศทางไทย
1.การออกมาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” ให้ผู้มีอาชีพอิสระ ลูกจ้างรายวัน หรือ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และคำสั่ง Lockdown ในหลักการถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องและจำเป็นอย่างยิ่ง
2.แต่มาตรการและการดำเนินการที่ออกมา ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. ถึง วันที่ 9 เม.ย. นับเป็น 17 วันแห่งความวุ่นวายและสับสนอลหม่านนับตั้งแต่การไม่เตรียมความพร้อมเรื่องคนแห่มาเปิดบัญชีหน้าธนาคารโดยไม่รักษาระยะห่าง ระบบล่ม จำนวนคนที่มาลงทะเบียนเกินกว่าจำนวนเงินที่เตรียมไว้ รวมถึงความไม่พร้อมเรื่องการคัดกรอง การออกมาให้คนถอนการลงทะเบียนนโยบาย “ชักเข้าชักออก“จนถึงสุดท้ายคือมีคนที่ไม่สมควรจะได้เงินชดเชย
3.มาย้อนดูไทมไลน์ จาก “เราไม่ทิ้งกัน” มาถึง “เราเละด้วยกัน”
- 4 มี.ค.2563 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม. พิจารณามาตรการและแผนเยียวยาผลกระทบ Covid-19 ชุดที่ 1 โดยการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ให้ประชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกรรายละ 1,000-2,000 บาท แต่ถูกคัดค้านจากสังคมอย่างหนักจนต้องยกเลิก
- 24 มี.ค.2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงครม.อนุมัติมาตรการระยะที่ 2 ให้แก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม ทั้งแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ สนับสนุนเงินเลี้ยงชีพเดือนละ 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- 27 มี.ค.2563 ประชาชนจำนวนมากแห่ไปต่อคิวเพื่อรอเปิดบัญชีเงินฝาก โดยไม่สวมหน้ากากและไม่มีการรักษาระยะห่าง
- 27 มี.ค.2563 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะมีทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งหากมีคนที่มีคุณสมบัติมากกว่า 3 ล้านคน กระทรวงการคลังพร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณต่อไป
- 28-29 มี.ค.2563 ธนาคารปิด เพื่อป้องกันประชาชนแห่เปิดบัญชี
- 28 มี.ค.2563 ระบบล่มทันทีในชั่วโมงแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนจนต้องปิดชั่วคราว เมื่อกลับมาใช้การได้มีประชาชนลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” วันแรกกว่า 10 ล้านราย
- 29 มี.ค.2563 ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถกด่วนเยียวยาผู้อยู่ในระบบประกันสังคม ม.39 ม.40 เดือนละ 5,000 บาท (ที่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน)
- 31 มี.ค.2563 ครม.ขยายสิทธิแจกเงิน 5,000 บาท จาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน
- 1 เม.ย.2563 จำนวนผู้ลงทะเบียนในระบบมีสูงถึง 24 ล้านคน
- 3 เม.ย.2563 กระทรวงการคลังเคาะ4อาชีพได้เงิน5,000บาทแน่นอน (มัคคุเทศก์ คนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าสลาก และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง)
- 4 เม.ย.2563 กระทรวงการคลังเปิดให้แจ้งขอยกเลิกการลงทะเบียนเยียวยา จำนวน 5,000 บาท
- 6 เม.ย.2563 ศบค.ขอคนไม่ตรงเกณฑ์รับ 5,000 บาท ถอนชื่อออก เตือนข้อมูลเท็จผิด พ.ร.บ.คอมพ์
- 6 เม.ย.2563 กระทรวงการคลังเผย 10 กลุ่ม “คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์”
- 7 เม.ย.2563 นายอุตตมะ สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงครม.อนุมัติ จ่ายเงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” 5,000 บาท เพิ่มเป็น 6 เดือน หรือให้เงินเยียวยาจนถึงเดือนก.ย. 2563
- 8 เม.ย.2563 กระทรวงการคลังเริ่มทำการจ่ายเงินให้กับผู้ลงทะเบียนแล้วในวันที่ 8 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป
- 8 เม.ย. ปรากฏข่าวผู้ที่ไม่สมควรได้เงินชดเชยจำนวนมากจนกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการคักกรองและตรวจสอบ
- 9. เม.ย.2563 นายอุตตมะ สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ถ้าสถานการณ์จบก่อนก็อาจจะจ่ายชดเชยไม่ครบ 6 เดือน
4.การออกมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีการเตรียมแผนการรองรับไว้ล่วงหน้าซึ่งจากการตั้งข้อสังเกต ถ้ามีเตรียมพร้อมทั้งข้อมูลงบประมาณและการปฏิบัติการต่างๆรองรับไว้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายสับสนที่ตามมาดังที่ปรากฏ
5.ข้อสังเกตเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ
5.1 ข้อมูลจากการแถลงของกระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกมาแถลงว่าเบื้องต้นจะชดเชยในกลุ่ม ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ 3 ล้านคน (โดยไม่ได้มีรายละเอียดว่าตัวเลขนี้มาจากไหน) แต่เมื่อมีคนมาลงทะเบียนมากถึง 24 ล้านคน ก็ได้ขยายจำนวนเพิ่มเป็น 9 ล้านคน ซึ่งได้เพิ่มจำนวนผู้ที่มีชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมตาม ม.39 และ ม.40 ประมาณ 5 ล้านคนไปด้วย
5.2 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนกลุ่มนี้ 5 ล้านคนมีชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ชดเชยผ่านระบบประกันสังคมไปเลย จะให้ประชาชนกลุ่มนี้มาลงทะเบียนผ่านเว็บไซด์เราไม่ทิ้งกันอีกทำไม
6.ข้อสังเกตเรื่องตัวเลขผู้ได้รับความช่วยเหลือ
6.1 ข้อมูลของนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยว่าตัวเลข 3 ล้านคนไม่ได้มั่ว แต่มีที่มาโดยกล่าวว่า “…ประชากรในประเทศมีจำนวน 66 ล้านคน ตัดเด็กและผู้สูงอายุ 11 ล้านคน เหลือแรงงาน 44 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นแรงงานที่มีงานทำ 38 ล้านคน เหลือ 6 ล้านคนคือคนที่ไม่มีงานทำ ตกงาน หรือเรียนหนังสืออยู่… และในจำนวน 38 ล้านคน ตัดคนที่เป็นเกษตรกรออก 17 ล้านคน อยู่ในประกันสังคม 16 ล้านคน และเป็นข้าราชการอีก 2 ล้านคน ฉะนั้นก็จะเหลือคนที่คลังจะเข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้น 3 ล้านคน…”
6.2 จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นนั้นพบว่าในจำนวนประชากรไทยในปี 2562 จำนวน 66.7 ล้านคน มีอายุต่ำกว่า 15 ปี (เด็ก,เด็กเล็ก)9.8 ล้านคน มีผู้อยู่ในช่วงอายุ15-22 ปี 6.8 ล้านคน อยู่ในช่วงอายุ 22-60 ปี (วัยทำงาน) 37.9 ล้านคนและ ผู้มีอายุเกิน 60 ปี 10.3 ล้านคน
6.3 สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า (เดือน ก.พ.2563) ประชากรผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน (15 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 56.7 ล้านคน โดยมีผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบ 38.4 ล้านคน มีผู้อยู่นอกระบบแรงงาน(แม่บ้าน/นักเรียน/คนชรา) 18.34 ล้านคน
6.4 โดยผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบ 38.4 ล้านคน จำนวนนี้มีงานทำ 37.63 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้ทำงานในภาคบริการและการค้า 18.08 ล้านคน ผู้ทำงานในภาคการผลิต 9.03 ล้านคน ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 10.52 ล้าน ผู้รอฤดูกาล 0.36 ล้านและผู้ว่างงาน 0.42 ล้าน
6.5 ส่วนผู้ที่อยู่ในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ มี 2.2 ล้านคน โดยเป็นข้าราชการพลเรือน/ลูกจ้างรัฐ 1.3 ล้านคน ตำรวจ 0.21 ล้านคน ทหาร 0.30 ล้านคน ข้าราชการบำนาญ 0.65 ล้านคน พนักงานรัฐวิสาหกิจ 0.27 ล้านคน (ซึ่งไม่ทราบว่าจำนวนข้าราชการ 2.2 ล้านคนนี้รวมอยู่ในผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.4 ล้านคนแล้วหรือไม่?)
6.6 โดยในส่วนของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.4 ล้านคนนั้นเป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม 16.74 ล้านคนโดยเป็นผู้อยู่ในมาตรา33 11.7 ล้านคน อยู่ในมาตรา 39 จำนวน 1.65 ล้านคน และอยู่ในมาตรา 40 3.33 ล้านคน
6.7 จะเห็นว่ามีกลุ่มที่อยู่นอกสารบบการเยียวยาคือกลุ่มที่เป็นภาระพึ่งพาครอบครัวประมาณ 27.9 ล้านคน แบ่งเป็น..
- กลุ่มเด็ก-เด็กเล็ก (ผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี) 9.8 ล้านคน
- แม่บ้าน (5 ล้านคน)
- นักเรียน-นักศึกษา (4.42 ล้านคน)
- ผู้ชราและผู้อยู่นอกระบบแรงงานอื่นๆ (8.7 ล้านคน)
6.8 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม (เกษตรกร+ผู้ไม่มีประกันสังคม)ซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้เพราะตัวเลขของทางราชการเองไม่ตรงกัน คือ
6.9 ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ตัวเลขของนายลวรณ อยู่ที่ 44 ล้านคน แต่ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ที่ 56.7 ล้านคน (ถ้าหักผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีจำนวน 10.3 ล้านคนออก ก็จะเหลือ 46.4 ล้านคน)
6.10 ตัวเลขอีกตัวที่ต่างกันก็คือจำนวนผู้อยู่ในระบบแรงงานในภาคเกษตรกร ตัวเลขของนายลวรณระบุเกษตรกรมีจำนวน 17 ล้านคน แต่ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ที่ 10.52 ล้านคนถ้าตัวเลขของนายลวรณจริงตัวเลขของแรงงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมก็ต้องกระทบใหม่หมด (ตัวเลขนี้อาจจะปรากฏเป็นประเด็นอีกครั้งในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ออกมา)
6.11 เมื่อเอาตัวเลขผู้อยู่ในกำลังแรงงานหักลบออกจากจำนวนผู้อยู่ในระบบราชการและระบบประกันสังคม (38.4-2.2-16.74) จะได้ ตัวเลขผู้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 19.46 ล้านคน ถ้ายึดตัวเลขจำนวนเกษตรกรนี้ตามนายลวรณคือ 17 ล้านคน จะได้ผู้เป็นแรงงานอิสระ 2.46 ล้านคน (ใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ประกอบอาชีพอิสระที่คลังประเมินเบื้องต้นไว้คือ 3 ล้าน)
6.12 แต่ถ้ายึดตัวเลขจำนวนเกษตรกรที่ 10.5 ล้านคน ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะได้ตัวเลขผู้มีอาชีพอิสระ ถึง8.96 ล้านคน มากกว่าที่คลังประเมินเบื้องต้นเอาไว้ถึง 3 เท่า)
6.13ตัวเลขที่ไม่ตรงกันของทางราชการนี้สะท้อนว่าแต่ละหน่วยงานราชการต่างมีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันอยู่ส่วนหนึ่ง (มีบางส่วนที่สอดคล้องกัน) ควรที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำข้อมูลมาสังเคราะห์ก่อนที่จะทำแผนออกมา เพื่อให้มาตรการและการดำเนินการนั้นมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
6.14 รวมถึงต้องเอาตัวเลขแต่ละส่วนมาสังเคราะห์ในแนวตั้ง เพราะในแต่ละกลุ่มนั้นได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบต่างกัน เช่น พนักงาน กับ ผู้บริหาร มีจำนวนที่ต่างกัน มีผลกระทบไม่เท่ากัน และมีความเดือดร้อนคนละแบบกันหรือผู้ประกอบการภาคบริการท่องเที่ยว กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหาร ก็ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน หรือ ข้าราชการระดับสูงอาจไม่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ถูกลดเงินเดือน แต่ข้าราชการและลูกจ้างรัฐฯในระดับล่างแม้จะไม่ถูกพักงานหรือออกจากงานแต่ก็อยู่ในกลุ่มที่มีภาวะหนี้สินมากอยู่แล้วเป็นต้น
7.ข้อสังเกตเรื่องเกณฑ์ของผู้ได้รับชดเชยหรือไม่ได้
7.1 เกณฑ์ของผู้สมควรได้รับชดเชยนั้นควรถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรก มิใช่ค่อยมาบอกภายหลังจากเมื่อมีคนที่มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมหาศาล จนถึงต้องมีการประกาศของให้ผู้ไม่เข้าเกณฑ์ถอนการลงทะเบียนของตนเสียก่อนจะมีความผิดทางกฏหมาย (มีผู้ถอนการลงทะเบียนประมาณ 5 แสนคน จาก 24 ล้านคน) ซึ่งเกณฑ์ต่างๆที่กระทรวงการคลังค่อยๆระบุออกมาเป็นดังนี้
27 มี.ค.2563 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “…ตอนนี้ประมาณการว่า ”ผู้ที่ผ่านเกณฑ์” จะมีทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งหากมีคนที่มีคุณสมบัติมากกว่า 3 ล้านคน กระทรวงการคลังพร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณต่อไป…” (แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เลยว่าเกณฑ์มีอะไรบ้างจนกระทั่งวันที่ 2 ถึงมีเกณฑ์เบื้องต้นประกาศออกมา)
กรณีมีการแชร์ข้อความว่า เกษตรกร ผู้สูงอายุ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา นายอุตตม สาวนายน ยืนยันว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่ประกาศจากทางธนาคารโดยตรง จนเป็นข่าวว่า “อุตตม พูดเอง ถือบัตรคนจน-ประกอบอาชีพอิสระ มีสิทธิ์ได้เงินเยียวยา 5,000” (เว็บไซด์ Kapook)
31 มี.ค.2563 นายลวรณ ระบุว่ากลุ่มที่ไม่ได้ชดเชย ไม่ผ่านเกณฑ์คือ
- ผู้ที่ Work From Home แต่ยังได้เงินเดือนครบ
- ผู้ที่ยังทำงานแต่ได้เงินเดือนครบ
- ผู้ตกงานมานานหรือตกงานเป็นปี
- ผู้ทำงานในร้านที่ปิดกิจการก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19
2 เม.ย.2563 คลังประกาศ 4 อาชีพผ่านคัดกรองเบื้องต้น
- มัคคุเทศน์
- คนขีบแท็กซี่
- ผู้ค้าสลาก
- วินมอเตอร์ไซด์
โดยเกณฑ์ผู้ที่จะไม่ได้รับเงินชดเชยปรากฏขึ้น 1 วันก่อนระบบจะโอนเงิน
7 เม.ย.2563 นายลวรณกล่าวในรายการ “ห้องข่าวเศรษฐกิจ” ระบุว่าผู้ไม่ได้รับเงินมี 10 กลุ่ม คือ
- อายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่อยู่ในวัยทำงาน
- คนที่ว่างงานอยู่แล้ว ไม่ใช่กลุ่มแรงงาน ลูกจ้าง หรืออาชีพอิสระที่เดือนร้อนจากโควิด-19 เช่น ถูกเลิกจ้าง ถูกลดเงินเดือน หรือสถานประกอบการถูกปิด
- ผู้รับบำนาญ
- ข้าราชการ
- ผู้ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม
- นักเรียน/นักศึกษา ไม่ใช่กลุ่มแรงงาน หากมีหนี้ กยศ. จะได้รับการหักหนี้หลายล้านคน
- เกษตรกร : รัฐให้ความช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบ โควิด-19 ระยะที่ 3 อยู่แล้ว
- ผู้ค้าขายออนไลน์
- คนงานก่อสร้าง เพราะการก่อสร้างยังไม่ถูกระงับ
- โปรแกรมเมอร์
7.2 แต่หลังจากที่เริ่มมีการโอนเงิน และเกิดปัญหาว่ามีผู้ได้ที่ไม่สมควรได้ และได้แสดงผ่านโซเซียลมีเดียว่าจะนำเงินชดเชยที่ได้ไปใช้ในทางสิ้นเปลืองไม่ใช่บรรเทาความเดือดร้อน ทางกระทรวงการคลังจึงได้เผยอาชีพที่ผ่านเกณฑ์โดยเป็นการสังเคราะห์จากฐานข้อมูล 24 ล้านคนที่เพิ่งได้มาในระบบ ซึ่งบางกลุ่มก็เพิ่งปรากฏขึ้นใหม่ เช่น กลุ่มรับจ้างทั่วไป, กลุ่มค้าขาย, กลุ่มที่มีนายจ้าง เป็นต้น (ซึ่งเป็นการระบุที่กว้างมาก)
8 เม.ย.2563 นายลวรณเปิดเผยผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับชดเชยรอบแรก
- กลุ่มรับจ้างทั่วไป ลงทะเบียน 11.7 ล้านคน/ผ่านเกณฑ์แล้ว 4 แสนคน
- กลุ่มค้าขาย ลงทะเบียน 6.3 ล้านคน/ผ่านเกณฑ์ 6 แสนคน
- กลุ่มที่มีนายจ้าง ลงทะเบียน 1.9 ล้านคน/ผ่านเกณฑ์ 4 แสนคน
- กลุ่มขับรถรับจ้าง ลงทะเบียน 3 แสนคน/ผ่านเกณฑ์ 1 แสนคน
- กลุ่มผู้ค้าสลาก ลงทะเบียน 2 แสนคน/ผ่านเกณฑ์ 2 หมื่นคน
- มัคคุเทศก์ ลงทะเบียน 3 หมื่นคน/ผ่านเกณฑ์ 1 หมื่นคน
- อาชีพอิสระอื่นๆ ลงทะเบียน 1.7 ล้านคน/ผ่านเกณฑ์ 1 แสนคน
รวมถึงระบุว่า กลุ่มผู้ค้าออนไลน์ พบว่ามาลงทะเบียน 2.1 ล้านคน ไม่ผ่านเกณฑ์ และกลุ่มรับจ้าง(แรงงานก่อสร้าง)
8. ข้อสังเกตเรื่องระยะเวลาที่ให้การเยียวยา
27 มี.ค.2563 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า“…ตอนนี้ประมาณการว่า ผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะมีทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งหากมีคนที่มีคุณสมบัติมากกว่า 3 ล้านคน กระทรวงการคลังพร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณต่อไป…” (ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเกณฑ์มีอะไรบ้าง นายอุตตมจะรู้ได้อย่างไรว่ามีคนผ่านเกณฑ์ 3 ล้านคน)
7 เม.ย. 2563 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดูแลระยะที่ 3 ทางครม.เห็นชอบให้ขยายการเยียวยาประชาชนในกลุ่มลูกจ้างใช้แรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยการจ่ายเงินเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพิ่มเติมจากมาตรการที่กำลังดำเนินการอยู่แล้ว รวมเป็น 6 เดือน หรือจนให้เงินเยียวยาจนถึงเดือน กันยายน 2563 (โดยขยายวงเงินเยียวยาเฟส 3 เป็นจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านบาท)
9 เม.ย.2563 นายอุุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟสบุ๊คระบุ “… ระยะแรก จึงจะมีการเยียวยาในช่วง 3 เดือนก่อน ส่วนหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้อีกตามความเหมาะสม ในทางกลับกันหากสถานการณ์จบก่อน ก็สามารถยุติการเยียวยาได้เช่นกัน…”
8.1 ทั้งนี้นายอุุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่า “…เป็นเรื่องของการตั้งกรอบเวลาในการเยียวยาเอาไว้ เนื่องจากเรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่…”
8.2 แต่ในวันที่ 7 เม.ย.ที่มีการประกาศว่าจะยืดเวลาเยียวยาไปอีก 3 เดือนเป็น 6 เดือน วันนั้น ครม.รับทราบการปรับการเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 โดยให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จาก 16 พ.ค.63 เป็น 1 ก.ค. 63 ซึ่งแสดงว่าถ้าโรงเรียนสามารถเปิดได้ในเดือนก.ค.ก็ต้องแสดงว่าครม.ต้องพิจารณาแล้วว่าในเดือน ก.ค. ต้องควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้หมดแล้ว ซึ่งเป็นเวลาเพียง 4 เดือน (เม.ย-ก.ค) เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ทำไมในวันเดียวกันนายอุตตมถึงเสนอว่าจะยึดเวลาเยียวยาไปอีก 6 เดือน
9.ข้อสังเกตเรื่องระบบ AI และความโปร่งใสของข้อมูลคนไทย 24 ล้านคนที่เอกชนอาจได้ประโยชน์จาก Big Data ตัวเลขของผู้ได้รับการเยียวยาที่เพิ่มขึ้นมา 6 ล้านคน คือตัวเลขของผู้อยู่ในระบบประกันสังคม ตาม ม.39 และ ม.40 อยู่แล้ว คำถามคือจะให้ประชาชนกลุ่มนี้มาลงทะเบียนให้ซ้ำซ้อนทำไม?
9.1 แต่การลงทะเบียนในส่วนของเว็บไซด์ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่มีมากอย่างไม่คาดคิดถึง 24 ล้านคนนี้กลับเป็น Big Data ชั้นดีที่จะเอาไปทำอะไรก็ได้ ในยุคที่ “ข้อมูลคืออำนาจ” คำถามคือมีความโปร่งใสเรื่องข้อมูลและความปลอดภัยที่รัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อประชาชนหรือไม่? โดยเฉพาะเมื่อปรากฏ ชื่อบริษัทเอกชน (คือ บ.ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด) อยู่ในเงื่อนไขที่ประชาชนต้องยินยอมในการลงทะเบียนเพื่อของรับเงินชดเชย
9.2 นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องการทำงานของระบบ AI ที่ไม่สามารถคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ดังที่สถาบันทิศทางไทยได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเป็นไปได้ที่ AI ในระบบนี้น่าจะเป็นแค่การจับ Matching คำเหมือนที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่ AI ที่มีความสามารถแยกแยะข้อมูลจริง/เท็จได้ (“ผ่าระบบ AI ทำงานแบบไหน? จะคัดกรองคนได้รับ 5,000 จาก 20 ล้านคนให้เหลือ 9 ล้านคนอย่างไร?” https://thaimoveinstitute.com/4149/ สถาบันทิศทางไทย.3 เม.ย.2563) ในส่วนนี้มีการดำเนินการกันอย่างไร? ใครเป็นผู้รับผิดชอบ? และมีค่าจ้างเป็นเงินเท่าไหร่?
10 สรุป : มีหลายคนเชื่อว่าเงินของแผ่นดินนี้ทุกบาททุกสตางค์คือเงินศักดิ์สิทธิ์
10.1 มาตรการชดเชย 5,000 บาท ในงบประมาณ 2.7 แสนล้าน เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการเยียวยาในระยะที่ 2 เท่านั้น ซึ่งจะมีมาตรการในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ตามมาในวงเงินที่ครม.อนุมัติไปแล้วคือ 1.9 ล้านล้านบาท ที่แบ่งออกเป็น 3 ก้อนคือ
- พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก soft loan ดูแลภาคธุรกิจ SMEs งบประมาณ 5 แสนล้าน
- พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน งบประมาณ 4 แสนล้าน
- พ.ร.ก.กู้เงินและเยียวยาเศรษฐกิจ (1 ล้านล้าน) ใช้ใน
ก.) แผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานผู้ที่ได้รับผลกระทบ (เยียวยา 6 เดือน / เยียวยาเกษตรกร / ดูแลด้านสาธารณสุข) 6 แสนล้าน
ข)แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (ครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่) 4 แสนล้าน
(มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานให้แต่ละกระทรวงไปลดงบประมาณของตนลงเพื่อเอาเงิน 6.6 แสนล้านมาเข้าในงบช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งไม่รู้ว่างบในส่วนนี้อยู่ตรงไหนหรือระยะไหนของมาตรการเยียวยา)
10.2 จะเห็นว่าแค่ งบ “เราไม่ทิ้งกัน” เยียวยา 5,000 เป็นเวลา 6 เดือน ก็เป็นจำนวนเกือบ 50% ของงบก้อนแรกในส่วนนี้แล้ว แต่การดำเนินงานที่ผ่านมานั้นกลับเป็นไปด้วยความทุลักทุเล สลับสนอลหม่าน ซึ่งต้องตระหนักว่าในยามวิกฤติชาติงบประมาณก้อนใหญ่โตขนาดนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของเหลือบทั้งในระบบราชการและเอกชนที่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจจะมาเกาะกิน หรือ มุ่งใช้เพื่อสร้างฐานความนิยมทางการเมืองของใครหรือพรรคหนึ่งพรรคใด แต่ต้องใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ร้อนจริงๆในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้
10.3 และถ้าจะเปรียบเทียบก็เป็นวงเงินที่ใกล้เคียงกับเงินที่เสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว 4 แสนล้าน ในที่นี้แม้ยังไม่มีการทุจริต แต่การทำงานที่ปราศจากแผนงานก็คือการซ้ำเติมประชาชนและประเทศชาติในรูปแบบหนึ่ง
10.4 ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย ได้เขียนข้อความเปิดผนึกผ่านเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2563 ว่า ถึงท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง มีคนชายขอบมากมายมหาศาลในประเทศนี้ที่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักเครื่องมือและใช้เครื่องมือไม่เป็น ในการขอความช่วยเหลือค่าเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 คนพวกนี้ต่างหากที่เดือดร้อนจริงๆ และเงินแค่ 5,000 บาท สามารถต่อชีวิตของเขาและครอบครัวของเขาได้จริง นี่คือโจทย์ที่กระทรวงการคลังต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน โดยศึกษาจากบทเรียนที่มีพวกเศษมนุษย์มาลงทะเบียนเพื่อขอค่าเยียวยา ทั้งๆที่ไม่ได้เดือดร้อนจริง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา