หลังจากที่ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป โดนรัสเซียตัดลดอุปทานพลังงานลดเรื่อย ๆ ก็ทำเอาแต่ละชาติปั่นป่วนไปตาม ๆ กัน โดยมีรายงานล่าสุดว่า ค่าไฟฟ้ายุโรปพุ่งทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า หน้าหนาวปีนี้ในยุโรป จะสาหัสสากรรจ์อย่างแน่นอน
มีรายงานว่าราคาไฟฟ้าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 1 ปีในเยอรมนี แตะระดับ 995 ยูโร (ราว 35,700 บาท) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ส่วนฝรั่งเศส พุ่งผ่านระดับ 1,100 ยูโร (ราว 39,500 บาท) หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากกว่า 10 เท่าในทั้ง 2 ประเทศ
ในสหราชอาณาจักร Ofgem ผู้ควบคุมกฎระเบียบทางพลังงาน เปิดเผยว่า จะปรับขึ้นเพดานค่าไฟและราคาก๊าซเกือบ 2 เท่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป เป็นเฉลี่ยแล้ว 3,549 ปอนด์ต่อปี (ราว 150,000 บาท)
Ofgem กล่าวโทษไปที่ราคาก๊าซขายส่งที่พุ่งทะยานทั่วโลก หลังยกเลิกข้อจำกัดสกัดโควิด-19 และความเคลื่อนไหวจำกัดอุปทานของรัสเซีย
สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรป แถลงว่าจะเรียกประชุมฉุกเฉินด้านวิกฤตพลังงานโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ราคาพลังงานดีดตัวขึ้นในยุโรป หลังรัสเซียลดการจ่ายอุปทานก๊าซธรรมชาติที่ป้อนแก่ทวีปแห่งนี้ ขณะเดียวกัน มีความกังวลว่ามอสโกอาจตัดอุปทานหนักหน่วงกว่านี้ในช่วงฤดูหนาว ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างมอสโกและตะวันตก เกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ราว 1 ใน 5 ของกระแสไฟฟ้ายุโรปมีต้นกำเนิดจากโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ ดังนั้นเมื่ออุปทานลดลง จึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ราคาจะพุ่งสูงเป็นเงาตามตัว
ทั้งนี้ ราคาก๊าซยุโรป เทียบจากตัวเลขในวันศุกร์ ที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา แตะระดับ 341 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดตลอดกาล ซึ่งเคยพุ่งทะยานไปถึง 345 ยูโร เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ส่วนทางด้านบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่เดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียง 24 เตา จากทั้งหมด 56 เตา เพราะปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวส่งผลให้เวลานี้ฝรั่งเศสกลายเป็นผู้นำเข้า จากเดิมที่เป็นผู้ส่งออกไฟฟ้ามาช้านาน
“ฤดูหนาวปีนี้กำลังเป็นช่วงเวลาที่สาหัสสำหรับทุกประเทศในยุโรป” จิโอวานนิ การาวัตติ นักวิจัยผู้ช่วย จากสถาบันวิจัย Bruegl ในบรัสเซลส์ บอกกับเอเอฟพีว่า “ราคาจะยังคงสูงต่อไป และมีความเป็นไปได้ที่มันจะสูงกว่านี้อีก”
ขณะที่เยอรมนี ออกมาแถลงจำกัดเพดานอุณหภูมิตามหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่ 19 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาวนี้ และจะไม่มีการจ่ายน้ำร้อน นอกจากนี้ ยังมีการห้ามเปิดเครื่องทำความร้อนสระว่ายน้ำส่วนตัวเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป
ด้านฟินแลนด์สนับสนุนให้พลเรือนปรับลดอุณหภูมิลง อาบน้ำน้อยลงและใช้เวลาในห้องเซาน่า ซึ่งเป็นธรรมเนียมของคนในประเทศ ให้สั้นลง
ส่วนฝรั่งเศส ครัวเรือนต่าง ๆ จะได้รับการปกป้องผ่านมาตรการจำกัดเพดานราคาพลังงาน ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม