ข่าวดี!! สถาบัน R&I จัดอันดับน่าเชื่อถือไทย A- มีเสถียรภาพ ส่งออก ๗ เดือนแตะ ๕.๗ ล้านล้านบาท

0

R&I คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยที่ระดับ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับมีเสถียรภาพ มองส่งออก,ท่องเที่ยวคึกคักช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว จับตาผลกระทบทางการเมือง ขณะก.พาณิชย์รายงานการส่งออก ๗ เดือนแรกโตกว่าร้อยละ ๑๑ ผลไม่นำโด่ง ส่วนค้าชายแดน-ผ่านแดนฉลุย ๖ แสนล้านบาท

วันที่ ๒๖ ส.ค.๒๕๖๕ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้และผู้ออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้โดยประเมินว่า แม้ว่าการระบาดของโควิด-๑๙ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลัง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานจากกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในด้านอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการบริโภคเริ่มฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

“R&I เชื่อมั่นว่า รัฐบาลยังคงรักษาเสถียรภาพทางการคลังและใส่ใจต่อภาระหนี้สาธารณะ (Debt Burden) ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากมีการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และสามารถระดมทุนได้ครบถ้วนตามความต้องการ” นางแพตริเซีย กล่าว

ประเด็นที่ R&I ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรวัยทำงาน ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนกรกฎาคมและ ๗ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขภาพรวมการส่งออกยังเป็นบวก เดือน ก.ค.๒๕๖๕  +๔.๓% ยอดส่งออกรวม ๘๒๙,๐๒๙ ล้านบาท ตัวเลข ๗ เดือนแรกปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. ๒๕๖๕ +๑๑.๕% ทำรายได้ให้ประเทศ ๕,๗๗๔,๒๗๗ ล้านบาท 

สินค้าสำคัญ ๓ หมวดประกอบด้วย ๑.สินค้าเกษตร ๒.สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและ ๓.สินค้าอุตสาหกรรม โดยหมวดที่ ๑ สินค้าเกษตร เดือน ก.ค.๒๕๖๕ -๐.๓% มูลค่าส่งออก ๘๒,๐๘๒ ล้านบาท ที่ติดลบเพราะปีนี้ผลไม้ซึ่งเป็นตัวส่งออกสินค้าเกษตรหลักหมดฤดูเร็วกว่าหลายปีที่ผ่านมา จึงไม่มีของส่งออก และตอนที่ผลไม้ออกเยอะช่วงเดือนก่อนหน้า กระทรวงพาณิชย์ประสบความสำเร็จร่วมกับเอกชนและเกษตรกรเร่งรัดการส่งออกผลไม้ไปตลาดจีนได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

โดยตลาดที่ขยายตัวดี ๑๐ อันดับแรกในเดือนก.ค.๒๕๖๕ คือ ๑.เกาหลีใต้ (+๓๙.๔%) ๒.ตะวันออกกลาง (+๒๗.๔%) ๓.แคนาดา (+๒๗.๓%) ๔.CLMV (+๒๔.๒%) ๕.อาเซียน(๕) (+๒๑.๓%) ๖.เอเชียใต้ (+๒๑.๑%) ๗.ทวีปออสเตรเลีย (+๒๐%)๘.สหรัฐราชอาณาจักร (+๑๗.๒%)๙.สหภาพยุโรป(+๘.๑%) และฮ๑๐.สหรัฐอเมริกา (+๔.๗%)

สำหรับการค้าชายแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขการส่งออก มีความสำคัญอย่างยิ่ง เดือน ก.ค.๒๕๖๕ การส่งออกผ่านการค้าชายแดน +๒๗.๘% ทำเงินเข้าประเทศ ๕๑,๖๕๕ ล้านบาท ๗ เดือนแรกปีนี้ การส่งออกผ่านการค้าชายแดน ๔ ประเทศคือ มาเลเซีย เมียนมา ลาวและกัมพูชา ทำเงินเข้าประเทศรวมกัน ๓๗๖,๐๗๔ ล้านบาท +๑๙.๙%

โดยมาเลเซียที่เป็นคู่ค้าชายแดนอันดับหนึ่งของไทย ก.ค.๒๕๖๕ +๒๓.๔% มูลค่าส่งออก ๑๕,๒๕๕ ล้านบาท สินค้าที่ขยายตัวสูง ยางรถยนตร์ +๒๗๗% รถยนต์ อุปกรณ์ +๑๕๔.๘% ยางพารา +๕๙.๔% เมียนมา ก.ค.ส่งออก ๑๑,๙๓๗ ล้านบาท +๕๑.๓% สินค้าที่ขยายตัวสูงในเมียนมา เช่น น้ำมันปาล์ม +๒๘๖.๑% น้ำมันดีเซล +๗๙.๙%