สถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมายังคงเปราะบาง จากการคว่ำบาตรของสหรัฐและตะวันตก แต่ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้เปิดเผยถึงการส่งออกก๊าซ ช่วงเม.ย.-ก.ค.เกือบ ๘๐ ล้านกิโลลิตร ทำรายได้มูลค่า ๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้เกือบ ๖๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รัฐบาลทหารพยายามที่จะรักษาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์เงินสกุลจ๊าตของพม่าอ่อนค่าลง และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทางการมีคำสั่งให้บริษัทต่างๆ แปลงสกุลเงินต่างประเทศของตนเองเป็นสกุลเงินท้องถิ่น และเลื่อนการชำระเงินกู้ต่างประเทศ การประกาศใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีน อินเดีย และไทยส่งผลให้การค้าขายชายแดน เป็นไปอย่างคึกคัก ส่งรายรับพุ่งตัวเลขมันฟ้อง ในขณะที่การต่อสู้ระหว่างกองทัพและกองกำลังฝ่ายต่อต้านในพื้นที่ชนบทยังคงดำเนินอยู่แต่เป็นเฉพาะจุด โดยเฉพาะติดชายแดนไทยยังมีความรุนแรง
วันที่ ๒๖ ส.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวรอยเตอร์และซินหัวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์เมียนมาระบุในรายงาน การส่งออกก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซซธรรมชาติ ๗๗.๘๙ ล้านกิโลลิตร ในช่วง ๔ เดือน ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่ส่วนใหญ่เป็นก๊าซจากโครงการนอกชายฝั่ง ๔ โครงการ คือ แท่นขุดเจาะยาดานา เยตากุน ฉ่วย และซอติก้า (Yadana, Yedagun, Shwe , Zawtika) โดยรายได้จากการส่งออกก๊าซสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ๖๐.๗ ล้านดอลลาร์
หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์รายงานว่า การส่งออกส่วนใหญ่ส่งไปยังจีนและไทย และทางการเมียนมาได้เปิดใช้เงินท้องถิ่นค้าขายไม่ใช่เงินดอลลาร์สหรัฐ
ด้านกระทรวงการวางแผนและการคลังของเมียนมา เปิดเผยรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ระยะ ๖ เดือน นับจากเดือนตุลาคม-มีนาคมของปีงบประมาณ ๒๐๒๑-๒๐๒๒ (ปีงบประมาณย่อย) อยู่ที่ ๑.๗๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว ๖.๑๕ หมื่นล้านบาท โดยเมียนมาส่งออกก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง ๔ แห่งดังกล่าว
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ของไทย ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า ส่วนบริษัทเชฟรอน และโททาลเอเนอร์ยีส์ ระบุในเดือน ม.ค. ว่าพวกเขาจะถอนตัวจากโครงการในพม่าเนื่องจากเงื่อนไขด้านมนุษยธรรม ตามวาระวอชิงตัน และในเดือน พ.ค. บริษัท ปตท.สผ. ของไทย ได้เทคโอเวอร์การดำเนินงานของแหล่งยาดานา หลังการถอนตัวของโททาลเอเนอร์ยีส์
ด้านการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงมีความรุนแรง ขณะที่ทางการทูต สหรัฐเร่งผลักดันอาเซียนให้กดดันเมียนมาเพื่มขึ้น
ทั้งนี้สำนักขาวอิระวดี(Irrawaddy) รายงานเมื่อวันที่ ๒๕ ส.ค.ที่ผ่านมาว่า การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงระหว่างกองทัพเมียนมา กับกองกำลังผสมกลุ่มกะเหรี่ยง นำโดยสหภาพแห่งชนชาติกะเหรี่ยง (KNU) พล.น.๖ หน่วย Cobra Column ยังไม่ยุติและน่าจะรุนแรงต่อเนื่อง
โดยกองทัพเมียนมาใช้อาวุธหนักและเครื่องบินทิ้งระเบิด เฉพาะอย่างยิ่งรุ่น Yak-๑๓๐ โจมตีกองกำลังผสมกลุ่มกะเหรี่ยง เพื่อเป้าหมายยึดเส้นทางถนนยุทธศาสตร์เชื่อมระหว่างพื้นที่บ้านวาเล่ย์กับเมียวดี ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ KNU มาตั้งแต่ มี.ค.๒๕๖๕ เพราะเป็นเส้นทางสำคัญในการส่งกำลังบำรุงสำหรับป้องกันฐานปฏิบัติการอุเกรทะ (ตรงข้ามบ้านมอเกอร์ไทย อ.พบพระ จ.ตาก)
โดยฐานปฏิบัติการอุเกรทะเป็นเป้าหมายหลักที่กองกำลังผสมกลุ่มกะเหรี่ยงต้องการยึด เพราะถือเป็นฐานปฏิบัติการที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่และมีขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุงให้กับฐานปฏิบัติการอื่นที่อยู่ใกล้เคียง