จากที่ประธานสภาคองเกรซของสหรัฐเดินทางเยือนไต้หวัน จนนำมาซึ่งหลายประเทศต่างคัดค้าน และมีท่าทีสนับสนุนจีนเดียว กระทั่งสื่อซึ่งเป็นปากเสียงของอเมริกาเองถึงกับออกมายอมรับถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 เพจ Thailand Vision ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่ถึงสถานการณ์ของไต้หวันโดยอ้างอิงจากสื่อของสหรัฐเองออกมาเผยแพร่ข้อมูลถึงผลกระทบของอเมริกาด้วยว่า
“วันที่ 18 สิงหาคม 2565 สำนักข่าว Voice of America ของสหรัฐฯ รายงานว่า การเดินทางไปเยือนไต้หวันของนางแนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาคองเกรซแห่งสหรัฐฯ นอกจากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับประเทศสหรัฐฯ ยังสร้างแรงสะเทือนต่ออิทธิพลและบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา
ประธานสภาสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวัน รัฐบาลหลายประเทศในแอฟริกาต่างก็ออกแถลงการณ์ประณามนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ปล่อยให้นางแนนซี เปโลซี เดินทางมาเยือนไต้หวัน โดยชาติแอฟริกาส่วนใหญ่มองว่า เป็นการกระทำที่ประมาท มุทะลุ และเป็นการยั่วยุ ที่ไร้ซึ่งมารยาทและกาลเทศะ แม้ว่าทำเนียบขาว กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนางเปโลซีก็ตาม
การยั่วยุเช่นนี้ จึงทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกา ประกาศจุดยืนอยู่ข้างประเทศจีน และสนับสนุนนโยบายจีนเดียว หรือ “One-China policy” แต่ก็มีการพิจารณาท่าทีเช่นนี้ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จีนเข้ามาลงทุนด้วยเงินมูลค่ามหาศาล ตามแบบแผนเส้นทางสายไหมของจีน หรือ “Belt and Road Initiative”
แม้แต่บูร์กินาฟาโซ ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ที่เคยสนับสนุนไต้หวัน ก็ยังต้องยอมตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันในปี 2018 เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับจีน
ด้วยอิทธิด้านเศรษฐกิจและการเงินของจีนในภูมิภาคแอฟริกา จึงทำให้เหลือเพียงไม่กี่รัฐเท่านั้น ที่ยังประกาศตัวสนับสนุนไต้หวัน นั่นก็คือ โซมาลีแลนด์ และ เอสวาตีนี ด้วยเหตุผลที่สถานภาพและภูมิประเทศของทั้ง 2 รัฐนี้ มีบางมิติที่คล้ายคลึงกับไต้หวัน ซึ่งโซมาลีแลนด์ไม่มีสถานะเป็นประเทศ และพยายามแยกตัวออกจากประเทศโซมาเลีย ในขณะที่เอสวาตีนีก็เป็นประเทศขนาดเล็ก ที่ถูกห้อมล้อมโดยประเทศแอฟริกาใต้และประเทศโมซัมบิก
ทั้งนี้ ในสมัยสงครามเย็นช่วงปี 1960s ไต้หวันเคยมีอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาคแอฟริกา แต่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในปี 1971 ประเทศส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงชาติต่าง ๆ จากภูมิภาคแอฟริกา ต่างก็ให้การยอมรับบทบาทของประเทศจีนและปฏิเสธไต้หวัน
ด้านขององค์กรวิจัยเอกชน หรือ “Think Tank” ก็มองว่าอิทธิพลของจีนในทวีปแอฟริกา กำลังเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนายอเล็กซ์ ไวนส์ (Alex Vines) หัวหน้าวิจัยแผนกแอฟริกาศึกษา ขององค์กร Chatham House ระบุว่า
เอสวาตีนีเป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียว ที่ยังคงสนับสนุนไต้หวัน เพราะเอสวาตีนีและไต้หวัน มีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจร่วมกัน แต่ถ้าหากหันไปมองประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา ก็จะพบว่า ส่วนใหญ่หันไปจับมือกับจีน และไม่มีท่าทีที่จะหวนคืนกลับมาคุยกับไต้หวัน
แต่สำหรับนายเซนลี ซิบิยา (Sanele Sibiya) อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอสวาตีนี มองว่า ไต้หวันให้เงินทุนสนับสนุนระบบสาธารณสุข และมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน โดยไม่ขอผลตอบแทนใดๆจากประเทศเอสวาตีนี ในขณะที่ประเทศอื่นอาจต้องขอกู้เงินจากจีน หากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน