หลังจากที่ยูเครนผ่านพ้นวันฉลองประกาศอิสรภาพท่ามกลางการเฝ้าระวังอย่างมาก โดยเกรงว่าจะถูกรัสเซียโจมตีเพื่อตอบโต้ ในเหตุการณ์สังหาร ดาเรีย ดูกินา ลูกสาวของอเล็กซานเดอร์ ดูกิน ซึ่งเป็นนักปรัชญาและนักเขียนมีชื่อเสียงระดับหนึ่งในรัสเซีย
แม้ว่ายูเครนจะหมายมั่น ว่าจะเดินหน้าต่อให้ชนะรัสเซีย แต่อาวุธในคลังแสงไม่มีเพียงพอที่จะต่อสู้ต่อ นั่นจึงเป็นชนวนที่ทำให้ชาติพันธมิตรอย่างยุโรปและตะวันตก เริ่มเบื่อหน่าย ในการส่งอาวุธไปคอยช่วยเหลือ แต่กลับยิ่งยืดยื้อสงครามรายวัน ไร้วี่แววจะชนะ
มีนักวิชาการมองหลาย ๆ ด้านว่า นอกจากแสนยานุภาพของรัสเซีย และยูเครนต่างกันแล้ว ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักคือบ้านเมืองของยูเครน ประเทศรัสเซียไม่ได้รับผลกระทบมากตามความคาดหวังมากนัก แม้จะโดนคว่ำบาตรแต่ก็ไม่ได้ทุกข์ร้อน
นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่าอาวุธที่ฝ่ายตะวันตกส่งให้ยูเครนนั้น 70 เปอร์เซ็นต์ตกหล่นระหว่างทาง อยู่ในมือของกลุ่มนักค้าอาวุธ กลุ่มธุรกิจอิทธิพล ตลาดมืด และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ตอกย้ำให้เห็นว่ายูเครนยังเป็นประเทศคอร์รัปชั่นมาก ไม่มีใครรู้ว่ายูเครนจะสู้รบได้อีกนานเพียงใด เพราะหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และชาติอื่น ๆ ที่ยังพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เริ่มแสดงอาการล้า เบื่อหน่ายกับสงครามที่ยูเครนไม่มีวันที่จะชนะได้
เยอรมนี ถือเป็นประเทศหลักในยุโรป ได้ส่งอาวุธความช่วยเหลือให้ยูเครนล่าช้า จนเซเลนสกี้แสดงความไม่พอใจ ทั้ง ๆ ที่เยอรมนีไม่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือ แต่ผู้นำยูเครนทำราวกับว่าทุกประเทศในยุโรปต้องช่วยยูเครน ที่ผ่านมายุโรปได้เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียภายใต้การนำของสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นตัวกระตุ้นด้วยหวังว่าจะทำให้รัสเซียสูญเสียมหาศาลทางเศรษฐกิจ และหมดสภาพในที่สุด
ความยากลำบากในช่วงเวลานี้ เกิดขึ้นกับประชากรในยุโรป โดยในประเทศอังกฤษและเยอรมนี กลุ่มคนรายได้น้อยอาจต้องเลือกระหว่างการใช้เงินเพื่อซื้ออาหาร หรือจ่ายค่าพลังงาน ระบบความร้อนภายในบ้านที่เพิ่มขึ้นแล้ว 4 เท่าตัว และประชาชนจำนวนมากต่างเรียกร้องให้รัฐบาลยุโรปตระหนักอีกครั้ง รัฐบาลอาจต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร มีทางเลือกระหว่างการใช้เงินเพื่อบรรเทาทุกข์และปัญหาในประเทศหรือยังช่วยเหลือยูเครนต่อไป