ดันฮับขนส่งเอเชีย!? สนข.โวจีบสายเรือยักษ์โลกสนใจ “แลนด์บริดจ์”ไทย คาดสรุปโมเดลเสนอรัฐทันประชุมเอเปค

0

สนข.หารือ “สายเรือยักษ์ใหญ่ระดับโลก” พบสนใจลงทุน “แลนด์บริดจ์” ชุมพร-ระนอง เร่งประมวลข้อมูล รูปแบบลงทุน และโมเดลธุรกิจ เร่งสรุปเบื้องต้นเสนอ กระทรวงคมนาคมใน ส.ค.นี้ พร้อมโรดโชว์นักลงทุนทั่วโลก คาดว่าจะทันประชุมสุดยอดเอเปคปลายปีนี้ ชวนต่างชาติลงทุนร่วม

วันที่ ๒๓ ส.ค.๒๕๖๕ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) ว่า การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) คาดว่าจะสรุปข้อมูลและรูปแบบเบื้องต้นได้ภายในเดือน ส.ค. ๒๕๖๕ และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ตามแผนงาน

ทั้งนี้ ล่าสุด สนข.ได้มีการพูดคุยกับบริษัทผู้ประกอบการสายเดินเรือรายใหญ่ของโลก เช่น Maersk Line, กลุ่มบริษัท CMA จากฝรั่งเศส รวมไปถึงสายเรือของประเทศจีน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น และมุมมองของผู้ประกอบการที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ “ชุมพร-ระนอง” ซึ่งส่วนใหญ่ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากเห็นโครงการแลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางขนส่ง ที่มีทั้งท่าเรือและทางรถไฟที่สำคัญ ที่จะเชื่อมฝั่งตะวันตกไปยังจีนและกลุ่มตะวันออกเฉียงใต้ได้ โดยรอการศึกษารายละเอียดเพื่อจะสามารถวิเคราะห์ด้านการลงทุนได้

“ขณะนี้การศึกษาได้นำเสนอผลการคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือพื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว รวมถึงมีการลงพื้นที่ให้ข้อมูล ทำความเข้าใจประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งประเด็นสำคัญขณะนี้คือรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศและคนไทย ในขณะที่เป็นรูปแบบที่จะจูงใจเอกชนด้วย”

เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง เพราะมีทั้งท่าเรือ รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ รวมเป็นแพกเกจเดียวกัน ซึ่งนโยบายต้องการเปิดให้เอกชนลงทุน โดยเป็นเอกชนต่างชาติ ร่วมกับเอกชนไทย จึงต้องรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนว่าต้องการให้รัฐสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกเรื่องใดบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาประมวลไว้ในผลการศึกษาเพื่อวิเคราะห์โมเดลการพัฒนาการลงทุนที่เหมาะสม

“หลักๆ เอกชนต้องการข้อมูลรายละเอียดโครงการ เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์การลงทุน ส่วนการเข้ามาลงทุน และประกอบการในประเทศไทยนั้น เอกชนต่างชาติต้องการเรื่องการอำนวยความสะดวก ไม่มีปัญหาอุปสรรค ซึ่งเบื้องต้นรูปแบบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน จะใช้โมเดลคล้ายๆ พัฒนาพื้นที่อีอีซี”

รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และเมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ ๒๐ ล้าน TEUs จะใช้เงินลงทุนประมาณ ๑.๐๘ ล้านล้านบาท

สนข.ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน วงเงินศึกษา ๖๗.๘๑๕๖ ล้านบาท โดยมีระยะเวลาศึกษา ๓๐ เดือน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๖ โดยในเดือน ส.ค.นี้จะสรุปในเบื้องต้นนำเสนอฝ่ายนโยบายก่อน

เป็นไปตามข้อสั่งการ รมว.คมนาคม เพื่อนำเสนอ Thai Landbridge Model ในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปก ครั้งที่ ๕๒ (APEC Transportation Working Group : TPTWG ๕๒) พร้อมเตรียม Road Show ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทั้งในระดับพื้นที่โครงการ และการประชาสัมพันธ์ไปสู่นักลงทุนต่างประเทศในช่องทางต่างๆ