ในขณะที่การสู้รบในภาคสนามของสงครามยูเครนยังดุเดือด การขับเคี่ยวในสงครามเศรษฐกิจภาคเงินตรายิ่งดุเดือดกว่า เพราะผู้แพ้หมายถึงสูญเสียทุกสิ่งโลกทุนนิยทขับเคลื่อนด้วยเงินตรา ล่าสุดสกุลเงินยูโรอ่อนค่ากว่าดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งที่ ๒ ในเวลาไม่ถึงเดือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในขณะที่นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจดิ่งสู่ภาวะถดถอยเร็วหรือพร้อมๆไปกับสหรัฐอเมริกาที่พยายามปฏิเสธทุกวันว่า ไม่จริงเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง
วันที่ ๒๓ ส.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวบลูมเบิร์กส์และรัสเซียทูเดย์รายงานว่า คิต จัคส์ นักยุทธศาสตร์ด้านตลาดเงินตราต่างประเทศของสถาบันการเงิน โซซิเอเต เจเนอราล เอสเอ (Kit Juckes) ระบุในบันทึกที่ส่งถึงลูกค้าระบุว่า “ในช่วงสิ้นสุดฤดูร้อน เงินยูโรกลับมาอยู่ภายใต้แรงกดดันอีกครั้ง บางส่วนเพราะว่าดอลลาร์แข็งค่า บางส่วนเพราะว่าภัยคุกคามที่แขวนอยู่รอบๆ เศรษฐกิจยุโรปไม่ได้หายไป”
เงินยูโรอ่อนค่าลงต่ำสุด ๑ ยูโรเท่ากับ ๐.๙๙๓๕ ดอลลาร์ ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย ทั้งนี้ สกุลเงินยูโรถือว่าอ่อนค่าที่สุดอีกรอบหนึ่งใน ๒ ทศวรรษ หลังจากช่วงหนึ่งของเดือนนี้เพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ ๑.๐๓ ดอลลาร์ และก่อนหน้านี้ ยูโร เคยซื้อขายกันที่ราวๆ ๑.๑๕ ดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์
ตลาดจะตื่นตัวเพื่อความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการตอบสนองของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ต่อความเสี่ยงที่ขัดแย้งกันของภาวะถดถอยและราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ในการประชุมสัมมนาแจ็คสันโฮล (Jackson Hole) ในสัปดาห์นี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าจะย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารกลางในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และจะมีเจ้าหน้าที่จากธนาคารกลางยุโรปและธนาคารแห่งอังกฤษเข้าร่วมด้วย ส่วนใหญ่กังวลว่าเฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น ๐.๗๕%
นักยุทธศาสตร์ คอมเมอร์แซงค์ เอจี ยูลริช ลิชแมน(Commerzank AG Ulrich Leuchtmann) ของยุโรปมองว่า “ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มที่จะอ่อนไหวเป็นพิเศษสำหรับการแก้ไขการคาดการณ์ของเฟด เนื่องจากอีซีบี (ECB) หรือ European Central Bank อยู่ในฐานะที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดาธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G๑๐” เขาเห็นว่าคู่เงินยูโรอาจแตะ ๐.๙๘ ต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนสิ้นปี
สกุลเงินยูโรอยู่ในแนวโน้มขาลงเมื่อเร็วๆ นี้ หลังมีความกังวลหนักหน่วงขึ้นว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะดำดิ่งสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปทานด้านพลังงานของรัสเซีย ผลจากการคว่ำบาตรทั้งๆที่ไม่มีแผนรองรับ
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม ยูโรอ่อนค่าลงมาเทียบเท่ากับดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ คือในรอบยี่สิบปีก็ว่าได้
สถาบันการเงินมอร์แกน สแตนลีย์ ประมาณการว่ายูโรอาจอ่อนค่าสู่ ๐.๙๗ ดอลลาร์ในไตรมาสนี้ เป็นระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ ด้านโนมูระ อินเตอร์เนชันแนล คาดการณ์ว่ายูโรจะอ่อนค่าสู่ระดับ ๐.๙๗๕ ดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนกันยายน
มาดูการเคลื่อนไหวฝั่งจีน ที่เป็นคู่ท้าชิงในการจัดระเบียบโลกใหม่ว่าสวนทางกันอย่างผิดทฤษฏีฝ่ายตะวันตก โดยประเด็นนี้เพจสาธารณะ World Maker รายงานไว้น่าสนใจดังนี้:
ล่าสุดมีรายงานออกมาว่ารัฐบาลจีนกำลังพยายามรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาฯ โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ +๑ ปี และ ๕ ปีลงอีก ๐.๑๕% เป็น ๓.๖๕% และ ๔.๓% ตามลำดับ
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของจีนครั้งนี้ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่ามีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะเลยทีเดียว ซึ่งไม่กี่วันก่อนหน้านี้ PBOC หรือธนาคารกลางของจีนและกระทรวงสำคัญอื่น ๆ ของจีนกล่าวว่าจะมีการ ‘เสนอเงินกู้พิเศษ’ ผ่านธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการบ้านที่หยุดชะงักอยู่จะถูกดำเนินการให้เสร็จและส่งมอบให้กับผู้ซื้อทุกคน
ความกังวลจากสายตาทั่วโลก โดยเฉพาะแรงกดดันจากฝั่งสหรัฐฯ ต่อจีนตอนนี้ยังคงมีอยู่อย่างมหาศาล ซึ่งหลายสำนักก็รายงานเป็นเสียงเดียวกันหมดเลยว่าวิกฤตอสังหาฯ ของจีนตอนนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายคนมองว่านี่จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้จีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย GDP ที่ +๕.๕% ได้ แม้ว่าฝ่ายจีนยังคงให้คำมั่นจะทำทุกอย่างให้บรรลุเป้าหมาย
ข้อมูลเปิดเผยว่าภาคอสังหาฯ มีสัดส่วนราว ๒๐-๓๐% ของ GDP จีนเลยทีเดียว ดังนั้นจึงแน่นอนว่าถ้าแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ เศรษฐกิจของจีนก็จะดิ่งลงได้อย่างชัดเจนแบบไม่ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ หลังจากประกาศอัตราดอกเบี้ยออกมา โดย CSI300 พุ่ง +๐.๘% และหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ดีดตัว +๑.๖% ส่วนหุ้นเอเชียตอนนี้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ตอนนี้ถือว่าได้ว่า ‘รัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าเชิงรุกกว่าเมื่อก่อนอย่างมาก’ ในการสนับสนุนตลาดการเงิน และนี่ก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จีนจะพลาดไม่ได้ หากต้องการขึ้นมาคานอำนาจของสหรัฐฯ ขณะที่ทางสหรัฐฯ ก็พยายามกดดันทุกทาง รวมถึงประเด็นของไต้หวันตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะไปต่ออย่างไรกันแน่ ??