ฝ่าคลื่นศก.!คลังอวดรายได้ ๑๐ เดือน ๒ ล้านล้าน กบง.ขยายเวลาอุ้มราคาก๊าซ ๓ เดือน ชงครม.ช่วยค่าไฟ ๔ เดือน

0

ก.การคลังโชว์ผลงานจัดเก็บรายได้ ๑๐ เดือน ทะยาน ๒.๐๓ ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย ๑ แสนล้านบาท สรรพากรโชว์ฟอร์ม รีดภาษีเต็มสูบ ๑.๖๗ ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย ๒ แสนล้านบาท รับอานิสงส์เศรษฐกิจโต หนุนบริโภค-นำเข้าพุ่ง ด้านสรรพสามิตอ่วมมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล กดผลงานต่ำเป้าหมาย ๖.๙ หมื่นล้านบาท

วันที่ ๒๒ ส.ค.๒๕๖๕ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง ๑๐ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๖๕ (ต.ค.๖๔-ก.ค.๖๕) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน ๒.๐๓ ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๑.๐๕ แสนล้านบาท หรือ ๕.๕% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๕.๘%

ทั้งนี้ ในช่วง ๑๐ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๖๕ การจัดเก็บรายได้ของ ๓ กรมภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมกันอยู่ที่ ๒.๑๘ ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๑.๔๓ แสนล้านบาท หรือ ๗% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๑.๙๕ แสนล้านบาท หรือ ๙.๘% โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร อยู่ที่ ๑.๖๗ ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๒.๐๖ แสนล้านบาท หรือ ๑๔.๑% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๒.๑๘ แสนล้านบาท หรือ ๑๕.๑% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ การบริโภค และมูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าประมาณการ

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ๔.๒๘ แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๖.๘๙ หมื่นล้านบาท หรือ ๑๓.๙% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๒.๘๓ หมื่นล้านบาท หรือ ๖.๒% เนื่องจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร อยู่ที่ ๘.๙๙ หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ๖.๓๘ พันล้านบาท หรือ ๗.๖% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๕.๒ พันล้านบาท หรือ ๖.๑%

สำหรับรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ ๑.๓๔ แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๑.๔๔ หมื่นล้านบาท หรือ ๑๒% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๑.๑๓ หมื่นล้านบาท หรือ ๙.๓% ส่วนหน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้อยู่ที่ ๑.๒๔ แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๑.๔๔ หมื่นล้านบาท หรือ ๑๐.๔% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๒.๒๘ หมื่นล้านบาท หรือ ๑๕.๕% ขณะที่กรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้อยู่ที่ ๖.๖๙ พันล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ๑.๓๔ พันล้านบาท หรือ ๑๖.๗% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ๗๙ ล้านบาท หรือ ๑.๒%

ก่อนหน้านี้ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าภาพรวมการเบิกจ่ายในช่วง10เดือนของปีงบประมาณ ๒๕๖๕ (ต.ค.๖๔ -ก.ค.๖๕) อยู่ที่ ๒.๖๗ ล้านล้านบาท คิดเป็น ๘๖.๑๔% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ ๓.๑ ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุนใช้จ่ายแล้ว ๔.๕๙ แสนล้านบาท คิดเป็น ๗๖.๘% ของวงเงินงบประมาณ ๖.๐๓ แสนล้านบาท รายจ่ายประจำใช้จ่ายแล้ว ๒.๒๑ ล้านล้านบาท คิดเป็น ๘๘.๕๗% ของวงเงินงบประมาณ ๒.๔๙ ล้านล้านบาท สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ใช้จ่ายแล้ว ๒.๓๕ แสนล้านบาท คิดเป็น ๙๘.๗๔% ของวงเงินงบประมาณ ๒.๓๘ แสนล้านบาท

นางสาวกุลยา กล่าวว่า “คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๕ หน่วยงานภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ๙๓% โดยแบ่งเป็น งบรายจ่ายประจำ ๙๘% และงบลงทุนราว ๗๕% ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีปีนี้โตได้ ๓.๕% โดยกรมฯ ได้ติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการส่งคณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่าย ทั้งส่วนกลาง และคลังจังหวัดทั้ง ๗๖ จังหวัด ให้ดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามแผนการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่ยังเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายให้เร่งรัดการดำเนินงาน การก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.๒๕๖๕”

ด้านการบรรเทาราคาพลังงานที่ประชาชนจับตามองว่า รัฐบาลจะออกมาตรการอะไรมาดูแลบ้าง ล่าสุดมติกบง. ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบราคาก๊าซหุงต้มไปอีก ๓ เดือน สิ้นสุด ธ.ค. ๒๕๖๕ พร้อมชงแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าผู้มีรายได้น้อย ๘,๐๐๐ ล้านบาท ระยะเวลา ๔ เดือนเข้าสู่ครม.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุม พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคา LPG

โดยมีโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) จาก ๔๕ บาทต่อคนต่อ ๓ เดือน เพิ่มขึ้นอีก ๕๕บาทต่อคนต่อ ๓ เดือน เป็น ๑๐๐ บาทต่อคนต่อ ๓ เดือน ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดโครงการฯ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ โดยจะขยายอีก ๓ เดือน เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม ๒๕๖๕

โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการฯ และจัดทำคำขอรับงบประมาณเพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการฯ เสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน มีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้ 

(๑) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน๓๐๐ หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน

โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน ๙๒.๐๔ สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา ๔ เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๖๕(ประกอบด้วยส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๕ จำนวน ๒๓.๓๘ สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน -ธันวาคม ๒๕๖๕ จำนวน ๖๘.๖๖ สตางค์ต่อหน่วย  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม -วันที่ ๑๙ เมษายน และวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ 

(2) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง ๓๐๑-๕๐๐ หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกัน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน -ธันวาคม ๒๕๖๕ แบบขั้นบันได ในอัตรา ๑๕-๗๕%

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือกลุ่ม (๑) และ (๒) ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ กฟน. และ กฟภ. จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ ๘๐% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น ๘๙% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย